หลัง รร.หนองบัวฮีฯ อุดมด้วยข้าวปลาอาหาร
อีกหนึ่งแรงสร้างอีสานมั่นยืน
เสร็จจากนาปีก็ต้องเตรียมทำนาปรัง
นี่ล่ะชีวิตชาวนาไทย ที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อยู่ชั่วนาตาปี
แล้วเหตุใด “ชาวนาไทย” กลับมิได้ลืมตาอ้าปาก
ค่าปุ๋ย ค่ายาสารเคมี เป็นเงินเป็นทองมหาศาล ก็ต้นทุนมันสูงขึ้นๆ ไม่คุ้มราคาประกันที่ “หลวง” จัดให้ ผีซ้ำด้ำพลอยเกิดน้ำแล้ง สุดเกินเยียวยาต้องทิ้งนาให้ร้าง
อย่างที่ บ้านหนองบัวฮี ต.หนองบัวฮีอ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
ชาวบ้านเกือบจะทิ้งทุ่งรวงทอง.หวังน้ำบ่อหน้าไปทำกินในกรุง แต่โชคยังดี ที่กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาหนองบัวฮีโดยเด็กๆ โรงเรียนหนองบัวฮีวิทยาคม ก็ลูกหลานชาวนานั่นล่ะ ที่ลุกขึ้นสู้แทนพ่อแม่ สืบสานปณิธานชาวนาทฤษฎีใหม่ด้วยความร่วมมือภายใต้ “โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน” โดย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนนำ “พันธุ์ข้าวพื้นเมือง” มาใช้ขยายผล สร้างทุ่งรวงทองให้ฟื้นคืนมา
“คิด แก้วคำชาติ” หัวเรี่ยวหัวแรงหลัก เล่าถึงโครงการนี้ว่า…”การปลูกข้าวทฤษฎีใหม่ เป็นความท้าทายของเด็กๆ อย่างมาก หลายคนไม่เคยช่วยพ่อแม่ทำนา แต่วันนี้ต้องมาปลูกข้าวเอง คัดเมล็ดพันธุ์ นับต้นข้าว วิเคราะห์หาทางแก้โรคข้าวด้วยตนเอง เพื่อให้พ่อแม่เห็นว่าการปลูกข้าวแบบไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีได้ผลผลิตดีอย่างไร ซึ่งเราเลือกใช้ข้าวพื้นบ้าน 3 สายพันธุ์ เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าข้าวที่ปลูกต้นจะใหญ่แข็งแรงออกรวงเยอะ ทนต่อโรค แตกต่างจากข้าวที่ใช้สารเคมี หรือพันธุ์ข้าวทั่วไป”
ขณะที่ชาวนามือใหม่ อย่าง น้องต้น-ชาญยุทธ ดุจดา นักเรียนชั้น ม.5 เล่าถึงความแตกต่างระหว่างการทำนาระหว่างที่บ้าน และที่แปลงนาสาธิตของโรงเรียน ว่านาที่บ้านว่าจะใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้า แต่นาของโรงเรียนใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ทำขึ้นมาใช้เอง และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ขยายพันธุ์เก็บไว้ปลูกเอง คือ “หอมสามกอ” และ “มะลิดำ”
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ ข้าวที่ปลูกหลังโรงเรียนจะมีขนาดเมล็ดที่ใหญ่กว่า มีจำนวนเมล็ดต่อรวงมากกว่าและต้นทุนการทำนาก็ถูกกว่ามาก ซึ่งจะนำวิธีปลูกข้าวแบบทฤษฎีใหม่นี้ ไปขยายผลในนาข้าวที่บ้านอย่างแน่นอน
…เห็นความตั้งใจดีของน้องต้น แล้วเชื่อว่าอีกไม่นานผืนนาแห่งบ้านหนองบัวฮีจะกลับมาเขียวขจีอีกคราเล่าคนไทยกินข้าวตั้งแต่เกิดจนตายข้าวเป็นวิถีชีวิต การที่ลูกหลานชาวนาได้ซึมซับเรื่องเหล่านี้ เขาจะได้เรียนรู้ในอาชีพที่เป็นมรดกของปู่ย่าตายาย ได้รับการถ่ายทอดทักษะภูมิปัญญา เกิดความภาคภูมิใจ…กลายเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่จะสืบทอดอาชีพที่เลี้ยงคนไทยสืบไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update 22-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์