หลัก 4 S สกัดปัญหาท้องไม่พร้อม เข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย
ที่มา : กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย 6 กระทรวง ใช้หลัก 4 S ลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และปัญหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย พร้อมแนะทางออกให้กับหญิงไทยที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เข้าถึงบริการเพื่อรับคำปรึกษาที่เหมาะสม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากที่มีการนำเสนอข่าววัยรุ่นใช้ยาเหน็บเพื่อทำแท้งจนเด็กหลุดออกมาเสียชีวิตนั้น กรณีนี้นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมและเลือกใช้วิธีการที่เสี่ยงและอันตราย ซึ่งอาจเป็นได้ว่าวัยรุ่นดังกล่าวไม่ทราบช่องทางการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จนนำไปสู่การทำแท้งในที่สุด
ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ยึดหลักการยุติตั้งครรภ์ที่ถูกกฏหมาย เพื่อแก้ปัญหาหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย พร้อมทั้งผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องพัฒนาองค์ประกอบรองรับด้วยหลัก 4 S คือ Safe Virgin โดยผลักดันเพศสุขภาพวิถีศึกษา Safe Sex โดยสามารถเข้าถึงยาคุมกำเนิดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ Safe Abortion คือ ยุติการตั้งครรภ์ทีปลอดภัยผ่านเครือข่าย RSA (เครือข่ายอาสาส่งต่อเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย) และ Safe Mom คือกรณีให้คำปรึกษาหญิงที่เปลี่ยนใจเห็นว่าควรตั้งครรภ์ต่อ ได้รับสิทธิ์ดูแลครรภ์ตามมาตรฐานฟรี รวมถึงการสงเคราะห์ดูแลด้านอื่น ๆ โดยมีกลไกการทำงานร่วมกัน 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“นอกจากนี้ ได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้บริการยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่อยู่ในภาวะหลังคลอดหรือแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิดในทุกสิทธิสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาแม่วัยรุ่นและป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในครั้งที่ 2 รวมทั้งลดการทำแท้งจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมควบคู่กับการส่งเสริมให้วัยรุ่นและหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 โดยสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมทั้งเพื่อป้องกันหญิงที่มีอายุครรภ์ ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ไปทำแท้งเถื่อน และเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยด้วย” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ทุกภาคส่วนต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาที่เป็นผลตามมาจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมการสนับสนุนให้สามารถปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดกับผู้ปกครองหรือเภสัชกรได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น และการรณรงค์ให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย และการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรคือการฝังยาคุมกำเนิดและใส่ห่วงอนามัย เพื่อป้องกันปัญหา การตั้งครรภ์ไม่พร้อมอย่างปลอดภัยและยาวนาน สำหรับหญิงบางรายที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและยังหาทางออกกับปัญหาไม่ได้ สามารถโทรไปปรึกษาสายด่วน 1663 ตั้งแต่เวลา 09.00–21.00 น. ได้ทุกวัน เพื่อจะได้รับบริการที่เป็นมาตรฐาน ไม่หลงไปทำแท้งเถื่อน ซึ่งนอกจากจะผิดกฏหมายแล้ว อาจทำให้ตกเลือด ติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตได้