หลักสูตรชีวิตที่ ร.ร. หลังเขา

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


หลักสูตรชีวิตที่ ร.ร. หลังเขา thaihealth


แกะรอยการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่ ร.ร.บ้านสว้าสาขาบ้านป่ากำพัฒนาเด็กด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิต


นายปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน กล่าวว่า ได้กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงาน ของโรงเรียน และโครงการตามพระราชดำริ ต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนบ้านสว้า สาขาบ้านป่ากำ และทรงทอดพระเนตรการสาธิตการจัดการเรียนการสอน การแสดงผลงานกิจกรรมกาแฟครบวงจร เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา


โรงเรียนบ้านสว้า สาขาบ้านป่ากำเป็นโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริในพื้นที่ทุรกันดารจังหวัดน่าน มีพื้นที่ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านสว้า ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ ระยะทาง 8 กิโลเมตรไม่มีเส้นทางที่รถผ่านได้ต้องใช้การเดินเท้า ช่วงฝนตกเด็กเดินทางยากลำบากใช้เวลาเดินทางถึง 3 ชั่วโมง จึงสร้างโรงเรียนสาขาบ้านป่ากำ ด้วยกำลังและความร่วมมือจาก ชาวบ้าน องค์กรภาครัฐ และเอกชน ปัจจุบันเปิดมาได้ 10 ปีแล้ว จัดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลถึง ป.4 มีเด็กนักเรียน จำนวน 27 คน ครูผู้สอนรวมผู้อำนวยการโรงเรียน 3 คน


นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า ที่โรงเรียนแห่งนี้ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิต ไม่แยกชีวิตกับการศึกษาออกจากกัน เพราะโรงเรียนเป็นของเด็กและชาวบ้าน นอกจากสอนนักเรียนแล้ว ครูก็ต้องให้ความรู้ชาวบ้านด้วย และอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ ก็คือ เมื่อเด็กจบการศึกษาแล้วหากไม่ศึกษาต่อ เด็กจะดำรงชีวิตอย่างไร ดังนั้นการศึกษาที่โรงเรียนนี้จึงเน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) เพื่อเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาเด็ก  อีกทั้งโรงเรียนยังได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียนของมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา (IRES) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกับการทำงานของโรงเรียน เนื่องจากโจทย์ของโรงเรียนสุขภาวะ คือ ชุมชนกับโรงเรียนต้องไม่แยกจากกัน ต้องอยู่อย่าง มีความสุข โดยการนำสิ่งที่มีอยู่นำไปเรียนรู้กับชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน


"พระองค์ตรัสให้กำลังใจว่า นี่แหละคือสิ่งที่ทำและส่งผลถึงเด็กจริงๆ นี่คือความภาคภูมิใจที่สุดแล้ว" นายปกรณ์กล่าว และเสริมถึงความโดดเด่นของพื้นที่ว่าคือ การทำให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน โดยป่าที่นี่ 200 ปีแล้วยังไม่ถูกทำลาย และอุดมสมบูรณ์อยู่มาก เคล็ดลับสำคัญ คือ ต้องทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดี สร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยตนเอง ไม่ต้องรอรับแต่ของบริจาค


"จุดเด่นของเศรษฐกิจในพื้นที่คือ กาแฟและการทำข้าวไร่ โดยได้นำปัญหาไปคุยกับ นักวิชาการข้าวมาปรับปรุงเป็นหลักสูตร และขอพื้นที่ชาวบ้านมาทำเป็นแปลงข้าวไร่สาธิต นำวิธีการจัดการทำไร่ข้าวแบบดั้งเดิม และ การปลูกตามวิชาการข้าว บวกกับวิธีการทางการตลาดมาบริหารจัดการไร่ด้วยปัญญาโดยการขายเรื่องราวของชาวบ้านไปกับข้าวด้วย เพื่อให้ชาวบ้านรู้ว่า การปลูกตามขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องทำตามทุกอย่าง เราควรแสวงหาวิธีการที่ดีเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และการให้เด็กเรียนรู้กิจกรรม เรียนรู้การทำธุรกิจกาแฟ" นายปกรณ์กล่าว พร้อมเสริมว่า ขณะนี้โรงเรียนบ้านสว้ายังจับธุรกิจการท่องเที่ยวเข้ามาจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วย เพราะอำเภอบ่อเกลือกำลังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ยอดนิยม


ทั้งหมดก็เพื่อตอบโจทย์การศึกษาคือชีวิต เพราะการศึกษาจะมีความหมายก็ต่อเมื่อสามารถช่วยให้ผู้เรียนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้นั่นเอง

Shares:
QR Code :
QR Code