หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ดัชนีประเมินสุขภาพประชากรแบบองค์รวม
หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ
เรื่อง ดัชนีประเมินสุขภาพประชากรแบบองค์รวม
“Summary Measures of Population Health” (SMPH)
วันที่ 30 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2557
ณ ภูเขางาม รีสอร์ท นครนายก
สมัครภายใน 20 มิถุนายน 2557
หลักการและเหตุผล
เครื่องชี้วัดภาวะสุขภาพประชากรแบบองค์รวม เป็นเครื่องชี้วัดผลลัพธ์ทางสุขภาพ ที่รวมทั้งการตาย และภาวะสุขภาพที่บกพร่องหรือการเจ็บป่วยเข้าด้วยกัน เพื่อใช้วัดและเปรียบเทียบภาวะสุขภาพในภาพรวมของประชากร โดยจำแนกเครื่องชี้วัดนี้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาวะ และช่องว่างสุขภาพ
อายุภาคเฉลี่ยของการมีสุขภาวะ เป็นเครื่องชี้วัดที่พัฒนาบนฐานของการวัดอายุคาดเฉลี่ย โดยปรับด้วยจำนวนปีที่มี ภาวะสุขภาพที่บกพร่อง ตัวอย่างเช่น Disability Free Life Expectancy (DFLE) Health Adjusted Life Expectancy (HALE) เป็นต้น ช่องว่างสุขภาพเป็นมาตรวัดทางสุขภาพที่วัดความแตกต่างระหว่างภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกับภาวะสุขภาพในความคาดหวังหรือสุขภาพมาตรฐาน
ปีสุขภาวะที่สูญเสีย เป็นดัชนีที่วัดช่องว่างทางสุขภาพที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งพัฒนาโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยสามารถสะท้อนปัญหาสุขภาพของประชากรได้ ครอบคลุมทั้งเรื่องของการตาย ความเจ็บป่วย ความพิการในหน่วยวัดเดียวกัน
กระทรวงสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของดัชนีดังกล่าวซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ ในการจัดลำดับความสำคัญและการวางแผนการลงทุนทางสุขภาพ รวมทั้งประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชากรไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 โดยมีคณะทำงานศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บในประชากรไทยเป็นผู้ดำเนินงานภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นหลักสูตรเบื้องต้นและหลักสูตรขั้นสูงเพื่อตอบสนองการใช้ข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศและภูมิภาคและเรียนรู้การจัดทำเครื่องชี้วัดสุขภาพประชากรไทยแบบองค์รวม
หลักสูตรการอบรม
หลักสูตรเบื้องต้น
เหมาะสำหรับนักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข นักวิจัย และผู้ที่มีความสนใจ ดัชนีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาวะ และการสูญเสียปีสุขภาวะ โดยหลักสูตรเบื้องต้นจะเน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ แนวคิด ทฤษฎี การแปลความหมาย และการนำไปใช้ประโยชน์ของดัชนีประเมินสุขภาพประชากรแบบองค์รวม
หลักสูตรขั้นสูง
เหมาะสำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรเบื้องต้นหรือผู้ที่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องแนวคิด ทฤษฎี ของดัชนีประเมินสุขภาพประชากรแบบองค์รวม, หลักการทางระบาดวิทยา, สาเหตุการตายและต้องการพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ดัชนีดังกล่าว โดยหลักสูตรขั้นสูงจะเน้นการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้ และสามารถเข้าใจและต่อยอดการประมาณค่าความสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควรและจากความเจ็บป่วยหรือความพิการ รวมทั้งการประมาณค่าความสูญเสียปีสุขภาวะจากปัจจัยเสี่ยง
กลุ่มเป้าหมาย
นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข นักวิจัย และนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลภารนำข้อมูลภาระทางสุขภาพแบบองค์รวมไปใช้
กำหนดการอบรม
หลักสูตรเบื้องต้น วันที่ 30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2557
หลักสูตรขั้นสูง วันที่ 2 กรกฎาคม – 4 กรกฎาคม 2557
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
หลักสูตรเบื้องต้น
นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจที่มีความสนใจในดัชนีประเมินสุขภาพและประชากรแบบองค์รวม
หลักสูตรขั้นสูง
- นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจ ที่มีความสนใจในดัชนีประเมินสุขภาพประชากรแบบองค์รวม
- เป็นผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรเบื้องต้นหรือ ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องแนวคิด ทฤษฎีของดัชนีประเมินสุขภาพประชากรแบบองค์รวม, หลักการทางระบาดวิทยา, สาเหตุการตาย
- มีความสามารถในการใช้โปรแกรม Excel ในระดับดี
สอบถามเพิ่มเติมเรื่องการลงทะเบียนและที่พัก
คุณจักร์วิดา อมรวิสัยสรเดช โทร. 081-716-8129
อีเมล : [email protected]
สอบถามเพิ่มเติมเรื่องหลักสูตรการอบรม
คุณณัฐพัชร์ มรรคา โทร. 084-729-4899
อีเมล : [email protected]
ที่มา : แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพของประเทศไทย