หลักปฏิบัติสกัดการแพร่หวัด 09
ดังนั้น ในวันนี้จึงขอนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่มาเพื่อความเข้าใจ เพื่อหาวิธีการป้องกันและแก้ไขที่เหมาะสม เพราะการที่มีมาตรการรุนแรงมากเกินไป ก็อาจเป็นการส่งสัญญาณที่สร้างความเข้าใจผิดกับประชาชนทั้งในประเทศ ตลอดจนจนทำให้ต่างชาติไม่กล้าเดินทางเข้ามาในประเทศ และถ้าอ่อนเกินไปก็จะทำให้ลุกลามรุนแรง
จริงอยู่ว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 นี้ จะมีการแพร่กระจายลุกลามรวดเร็วไปทั่วภูมิภาคของโลกแล้ว จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ณ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม (วันที่ 6) มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ 94,512 คน มีผู้เสียชีวิต 429 คน ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตเพียง 0.45%
จากข้อมูลของศูนย์ป้องกันและควบคุมการติดต่อโรคของยุโรป (European Centre for disease prevention and control: ECDC) ที่มีการรายงานจนถึง 15 กรกฎาคมนี้ ก็มีผลที่คล้ายคลึงกัน คือ มีจำนวนผู้ป่วยรวม 125,993 ราย และมีผู้เสียชีวิต 667 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.53
ข้อมูลดังกล่าวทั้งสองแหล่งชี้ชัดเจนว่า แม้ลุกลามรวดเร็วแต่ก็สามารถรักษาหายได้ ต่างจากไข้หวัดนกที่มีอันตรายมากกว่าด้วยอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 16 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากมีโรคแทรกซ้อนอื่น อาทิเช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอื่นๆ เป็นต้น
หากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ มีอันตรายน้อยกว่าและสามารถรักษาได้ จึงควรมีมาตรการให้ความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในวงกว้าง ในการที่ระวังป้องกันตนเอง การควบคุมไม่ให้แพร่กระจาย และการรักษาหากกรณีป่วย
ทั้งนี้ ไม่ควรประมาท และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ เพราะการใช้มาตรการที่มากเกินไป อาทิเช่น การให้ยาทามิฟลูสำหรับคนป่วยที่มีอาการทุกคน ก็จะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล เป็นต้น หรือการงดกิจกรรมต่างๆ ก็จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน
ซึ่งมาตรการในการป้องกัน หรือจำกัดการแพร่ระบาด จึงเป็นสิ่งจำเป็นประการแรกที่แต่ละบุคคลควรยึดปฏิบัติ ดังนี้
1. การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น เพราะไวรัสนั้นจะสามารถแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการแตะต้องและสัมผัส ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือ การอยู่ห่างจากคนอื่นในระยะไม่ต่ำกว่า 1 เมตร การแตะจับวัตถุสิ่งของในที่สาธารณะ ตลอดจนการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดคับแคบ
2. การเอาใจใส่ต่อการรักษาสุขภาพอนามัย ที่สำคัญๆ คือ การหมั่นล้างมือ เพราะในแต่วันจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ได้ยาก การใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน และควรที่จะใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ที่นอกจากจะเป็นการป้องกันตนเองจากการรับเชื้อจากผู้อื่นแล้ว ยังป้องกันไม่ให้เชื้อจากตนเองแพร่ไปสู่ผู้อื่นอีกด้วย
ซึ่งการใส่หน้ากากอนามัยนี้ เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่าไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนที่เพียงพอ ที่มีข่าวว่ารถตู้โดยสารบางคันไม่ยอมรับผู้ใส่หน้ากากอนามัยขึ้นรถ และนอกจากนี้แล้ว หน้ากากอนามัยยังมีราคาสูงและขาดแคลนอีกด้วย
3. สำหรับผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ที่อาจจะเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่หรือไม่นั้น สามารถรักษาให้หายด้วยตนเองได้ ด้วยการกักบริเวณตนเองที่บ้าน 1 – 2 สัปดาห์ รับประทานยา และพักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอ แต่สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ถ้าหากป่วยและมีอาการของไข้หวัดใหญ่ ควรที่จะไปโรงพยาบาลในการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ
สำหรับอาการของไข้หวัดใหญ่นั้น ในระยะเริ่มต้นภายหลังการติดเชื้อ 1 – 2 วัน จะทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ อ่อนล้ามาก อ่อนเพลีย เจ็บคออย่างรุนแรง กลืนน้ำลายลำบาก รวมไปถึง ไอ หอบ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก คัดจมูกน้ำมูกไหล คลื่นไส้อาเจียน และบางรายจะมีอาการท้องเดินด้วย
จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ จำแนกรายประเทศที่สำคัญจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Update 23-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก