หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น

ที่มา : หนังสือปฐมพยาบาลคู่บ้าน โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น  thaihealth


แฟ้มภาพ


เรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บเบื้องต้นหากเกิดอุบัติเหตุหรือประสบเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวคุณ ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านหรือนอกบ้าน เพราะเมื่อเรารู้จักวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องแล้ว เราก็จะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ไม่มากก็น้อยก่อนจะไปถึงโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในยามคับขัน


หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ต้องคํานึงถึงสิ่งใดบ้าง


1. ผู้ช่วยเหลือ ควรมีหลักการช่วยเหลือ ดังนี้


ความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุ


เป็นสิ่งสําคัญที่ต้องคํานึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนการเข้าไปช่วยเหลือเพราะอาจถูกลูกหลงไปด้วย เช่น เหตุไฟช็อต เป็นต้น


ใช้สายตาสํารวจดู


โดยสํารวจตามส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างมีสติ และห้ามเคลื่อนย้ายถ้าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บของอวัยวะต่างๆ ซึ่งผู้ช่วยเหลืออาจมองไม่เห็น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทันทีโดยไม่ถูกวิธีอาจยิ่งทําให้ผู้ป่วยบาดเจ็บมากขึ้นหรือร้ายแรงกว่านั้นได้


ผู้บาดเจ็บต้องอยู่ในที่ปลอดภัยก่อน


ควรปฐมพยาบาลต่อเมื่อได้นําตัวผู้ป่วยออกมาจากสถานที่เหล่านี้ เช่น ในน้ำ หรือในกองไฟ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวผู้ป่วยและตัวผู้ช่วยเหลือเอง เป็นต้น


ช่วยเหลือด้วยความนุ่มนวลและระมัดระวัง


โดยให้การช่วยเหลือตามลําดับความสําคัญของการมีชีวิต หรือตามความรุนแรงที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น


2. พิจารณาอาการบาดเจ็บของผู้ป่วย โดยเรียงลําดับความร้ายแรงของอาการบาดเจ็บได้ดังนี้


วิธีสํารวจการบาดเจ็บเบื้องต้น


ตรวจดูความรู้สึกตัวโดยการเรียกหรือตีที่ไหล่เบาๆ ว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวไหม


ตรวจดูทางเดินหายใจ


ดูว่ามีเศษอาหารหรือฟันปลอมอยู่ในปากหรือเปล่าและถ้าหายใจไม่สะดวกให้เปิดทางเดินหายใจ โดยใช้มือข้างหนึ่งดันหน้าผากและมืออีกข้างเชยคางให้หน้าผู้ป่วยแหงนขึ้นข้างบน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือหมดสติให้ตรึงกระดูกสันหลังส่วนคอและใช้วิธียกขากรรไกรขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ


ตรวจดูการหายใจ


สําหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหรือคอให้ใช้มือข้างหนึ่งดันหน้าผากและมืออีกข้างเชยคางให้หน้าผู้ป่วยแหงนขึ้นข้างบน จากนั้นตรวจดูโดยการเอียงหน้าก้มลงไปเอาแก้มเข้าไปใกล้จมูกผู้ป่วยและสังเกตว่ามีลมมาสัมผัสไหม หูฟังเสียงการหายใจ รวมถึงใช้ตามองดูหน้าอกว่ากระเพื่อมขึ้นลงตามการหายใจไหม และดูว่าคนป่วยมีการหายใจเร็วหรือช้าด้วย (ผู้ใหญ่หายใจ 12-20 ครั้งต่อนาที)


ตรวจชีพจร


ดูว่าหัวใจเต้นหรือไม่ (ผู้ใหญ่ 60-100 ครั้งต่อนาที) ผู้ป่วยที่รู้สึกตัวให้จับชีพจรที่ข้อมือหรือข้อพับแขนส่วนผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวให้จับชีพจรที่คอ


ขอความช่วยเหลือ


จากโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือใกล้สถานที่เกิดเหตุหรือโทร.1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ