หยุดสร้างนักดื่มหน้าใหม่ในสงกรานต์ 2562
ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า
เทศกาลสงกรานต์ งานประเพณีที่มีภาพลักษณ์อันงดงามและมีกิจกรรมที่สนุกสนานจนเป็นที่ติดตาตรึงใจของชาวต่างประเทศที่ตั้งความหวังไว้ว่าชาตินี้อย่างน้อยก็ขอเข้ามาร่วมสงกรานต์ในประเทศไทยสักครั้งหนึ่งเถิด และยิ่งผู้จัดงานพยายามที่จะวิเคราะห์ วิจัย และหาทางแก้ปัญหาที่เป็นอันตรายซึ่งเกิดขึ้นในวันเทศกาลสงกรานต์ให้ลดน้อยลงไปยิ่งทำให้งานสงกรานต์ของไทยยิ่งมีค่านิยมสูงยิ่งขึ้น
จากสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาล่าสุดปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ยังคงมีที่มาจากพฤติกรรมเมาแล้วขับ 38.82% รองลงมาคือขับรถเร็ว 24.32% และตัดหน้ากระชั้นชิด 16.51% ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ จักรยานยนต์ 82.32% โดยมีจำนวนอุบัติเหตุ 3,503 ครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิต 399 ราย และจำนวนผู้บาดเจ็บ (Admit) จำนวน 3,663 คน
เพื่อให้ปัญหาลดน้อยลงจนถึงขั้นที่จะไม่มีปัญหา นอกเหนือจากมาตรการควบคุมและมาตรการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ร่วมกันทำงานความรู้ รณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายในรูปแบบวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งก็ได้ผลในระดับเป็นที่พอใจ อาทิ การสร้างพื้นที่รูปธรรมเล่นน้ำปลอดภัย ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า”และการยกระดับการเข้มงวดในการตรวจจับผู้กระทำความผิดให้เพิ่มมากขึ้น
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนนโยบายสาธารณะ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า การสร้างสังคมให้ปลอดภัยจำเป็นต้องอาศัยพลังทางสังคมจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงภายในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องที่แนวคิดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า (Zoning) กลายเป็นมาตรการหลักของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กระทรวงมหาดไทย โดยใช้บทเรียนจากการทำงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ภาคีเครือข่ายและเจ้าภาพจัดงานในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกันทำให้พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า โดยเฉพาะถนนเล่นน้ำตระกูลข้าว อาทิ ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น ถนนข้าวเม่า จังหวัดมหาสารคาม ถนนข้างสุก อ่างทอง เป็นต้น รวมแล้วในขณะนี้มีถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้ามากถึง 50 แห่งและมีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ กล่าวย้ำว่า พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า (Zoning) กลายเป็นงานสงกรานต์ที่ทรงคุณค่าอย่างแท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของคนไทย โดยในแต่ละจังหวัดทั่วไปในปี 2560 มีรายงานว่า มีจำนวนพื้นที่ Zoning ทั้งหมด 3,241 ซึ่งเป็นพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยในแต่ละจังหวัด และแน่นอนว่า ในปี 2562 เครือข่ายงดเหล้าได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันกระชับพื้นที่ ส่งสัญญาณการทำงานพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าให้มีความเข้มข้นและต่อเนื่องมากขึ้น พร้อมไปกับขยายมาตรการแนวทางให้ไปเชื่อมโยงยังหน่วยงานภาคเอกชนและผู้ประกอบการต่าง ๆ ในการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าในพื้นที่เอกชน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีตัวอย่างที่ดีและได้รับการตอบรับจากประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างล้นหลาม อาทิ งานสงกรานต์โนแอล ที่ห้าง LimeLight Avenue ที่จังหวัดภูเก็ต งานสงกรานต์ผ้าขาวม้าที่สยามสแควร์ งาน M2F อัศจรรย์สงกรานต์กลางกรุงที่ Central World กรุงเทพฯ รวมทั้งงานสงกรานต์ที่ถนนสายสำคัญอย่างถนนสีลม กรุงเทพฯ
การหยุดตัวเลขคนบาดเจ็บเสียชีวิตเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องช่วยกันทำอย่างจริงจัง โดยอาศัยความร่วมมือ และความรู้เพื่อให้ทุกคนได้สนุกอย่างปลอดภัย และที่สำคัญที่สุดต่ออนาคตของชาติในวันข้างหน้าคือจะเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาเชิงรุกที่จะส่งผลต่อเด็กเยาวชนมิให้กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย