หยุดวงเหล้า ก่อนจะกลายเป็นวงเศร้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
บุหรี่และสุราเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คร่าชีวิตประชากรได้ปีละมหาศาล แต่หากมองถึงโทษที่เกิดขึ้น สุราก็ยังเป็นปัจจัยที่เห็นผลร้ายได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นผลทางด้านสุขภาพร่างกาย ความสัมพันธ์ในครอบครัว อุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงคดีอาชญากรรมในสังคม
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงผนึกความร่วมมือจัดเวที 'ยกทัพ ปรับขบวน ชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษา 2560' เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนสู่การเตรียมพร้อมรับมือกับช่วงเข้าพรรษาที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ภายใต้แนวคิด 3 กลยุทธ์ 1,000 แกนนำชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษา
เมื่อพูดถึงกิจกรรมรณรงค์การงดเหล้า กว่า 10 ปีที่ผ่านมา สสส.เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมสร้างการจดจำจนเป็นกระแสสังคม อย่างวลีติดปาก ให้เหล้าเท่ากับแช่ง กฐินเมาเป็นกฐินบาป หรือแม้แต่เพลงพักตับก็ตาม ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. เล่าถึงความสำคัญของการขับเคลื่อน "งดเหล้าเข้าพรรษา" ว่า การดำเนินงานงดเหล้าเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบในวงกว้าง เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงวิถีชีวิตที่เคยชินของคนส่วนใหญ่ ที่ผ่านมา สสส.และภาคีเครือข่ายมุ่งทำงานในระดับบุคคล ด้วยการให้ข้อมูลเพื่อส่งเสริมให้เปลี่ยนวิธีคิดเป็นหลัก แต่กลับพบว่าการที่คนดื่มเหล้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ต้องเกิดจากตัวผู้ดื่ม แรงกดดันและกำลังใจจากคนรอบข้าง รวมถึงการเข้าถึงแหล่งจำหน่ายหรืองานสังสรรค์ได้ง่าย การทำงานในปีนี้จึงเน้นการทำงาน บูรณาการแบบเต็มรูปแบบ ภายใต้กลไกการทำงานระดับอำเภอ ชุมชน ระบบสุขภาพ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในปีก่อนๆ เพื่อยกระดับความเข้มข้นจากเพียงงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา เป็นงดเหล้าครบพรรษา ต่อยอดเป็นการงดเหล้าให้ครบปี สู่การงดเหล้าตลอดชีวิต โดยวางเป้าหมายสร้างแกนนำงดเหล้าเข้าพรรษาในระดับอำเภอให้ได้ 1,000 คน จากทั่วประเทศ
"ดังนั้นในปีนี้จึงใช้กลยุทธ์ 3 ขยาย เป็นแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรม คือ 1.ขยายพื้นที่ขับเคลื่อนงานงดเหล้าเข้าพรรษาอย่างน้อยจังหวัดละ 1 อำเภอ 2.ขยายกลุ่มเป้าหมาย ไม่เพียงแต่ผู้ดื่ม แต่รวมถึงผู้เสพและผู้ติด และ 3.ขยายเวลา ส่งเสริมสู่ช่วงออกพรรษารวมถึงเลิกเหล้าตลอดชีวิต เพราะเรื่องสุขภาพไม่ใช่เพียงรอให้เจ็บป่วยแล้วรักษา แต่รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อให้เกิดการมีสุขภาวะที่ดี ที่ผ่านมาในปี 2559 เห็นได้ว่าช่วงเทศกาลเข้าพรรษาระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงเฉลี่ย 15% เมื่ออุบัติเหตุลดน้อยลงความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินก็น้อยลงตามไปด้วย" นพ.บัณฑิตกล่าว
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต สธ. ให้ข้อมูลว่า การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส.ถือว่าประสบความสำเร็จ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 80% ซึ่งการขับเคลื่อนงานนี้ไม่ได้ช่วยคนเพียงคนเดียว แต่ยังได้ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ช่วยลดความรุนแรงในครอบครัว ลดความรุนแรงในสังคม รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับขวดเหล้ากว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้งทุกๆ 6 คนที่ดื่มเหล้า จะมี 1 คนที่อยู่ในภาวะเป็นทั้งผู้เสพ (เริ่มต้นเสพ ควบคุมตัวเองไม่ได้ เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา) และผู้ติด (ไม่สามารถหยุดดื่มได้ เกิดจากการควบคุมการทำงานของระบบสมอง) ในกลุ่มนี้คือกลุ่มเป้าหมายหลัก เป็นกลุ่มที่หยุดได้ยาก ต้องได้รับการช่วยเหลือบำบัดเพื่อลดอาการลงแดง หรืออาการช็อกจากการหยุดดื่มกะทันหัน ซึ่งการรักษานอกจากต้องใช้ยาบรรเทาอาการสมองถูกกดจากฤทธิ์สุราแล้ว คือ การใช้จิตวิทยา จิตบำบัด ปรับเปลี่ยนความคิด-พฤติกรรมให้เข้าใจต่อการเลิกดื่ม การใช้หลักศาสนาเข้าช่วย รวมถึงการสร้างกิจกรรมขึ้นมาเพื่อชดเชยวงเหล้าที่เคยมี ให้เปลี่ยนเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ อย่างเช่น ออกกำลังกาย เตะตะกร้อ ปั่นจักรยาน เพื่อเป็นการสร้างสังคมใหม่ให้เขาเกิดความรู้สึกมีสังคม มีเพื่อนที่เข้าใจ เหมือนการห้ามลูกเล่นเกม ผู้ปกครองก็ต้องสร้างกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อมาชดเชยกิจกรรมที่ปกติลูกเคยใช้เวลาเหล่านั้นเล่นเกม
สำหรับตัวแทนชุมชน นายวิศิษฐ ทวีสิงห์ นายอำเภอเมืองพะเยา จ.พะเยา บอกเล่าการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ว่า เดิมทีพื้นที่พะเยาได้รับการขนานนามว่าเป็นจังหวัดที่มีคนดื่มมากที่สุด เนื่องจากการดื่มเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ทั้งการสังสรรค์ งานบุญ งานประเพณีต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่างๆ ตามมา อย่างเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ในพื้นที่จัดกิจกรรมสงกรานต์ปลอดเหล้า ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เห็นได้ว่าอุบัติเหตุและการสูญเสียลดน้อยลง ประชาชนให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ในพื้นที่ยังใช้มาตรการ ลด ละ เลิก เป็นปัจจัยที่พาให้สถิติลดจากอันดับ 1 เป็นอันดับ 18 โดย ลด ด้วยการใช้มาตรการกฎหมายเข้าควบคุมเวลาเปิดปิด ละ ด้วยการใช้กฎหมู่ในหมู่บ้านอย่างเข้มข้น เลิก ด้วยการให้รางวัลเป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่เลิกครบระยะเวลา ครบพรรษา ครบ 1 ปี หรือ 3 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นกุศโลบายที่พาสู่เป้าหมายเลิกเหล้าตลอดชีวิต อาทิ โครงการคนหัวใจหิน-คนหัวใจเพชร รวมถึงเชิญชวนผู้ที่เลิกดื่มและผู้ไม่ข้องเกี่ยวกับสุรามาร่วมเป็นวิทยากรกับชมรมคนปลอดเหล้า ที่ช่วยให้คนในชุมชนรู้ถึงโทษของสุรามากขึ้น ร่วมสร้างกิจกรรมดีๆ และเป็นสุขได้ด้วยการไม่พึ่งสุรา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ร่วมโครงการกว่า 3,000 คน
ส่วนผู้ที่เคยตกอยู่ในภาวะผู้ติดและผู้เสพสุราจนทำให้ครอบครัวแตกแยก อย่าง นายสุทิน อินเลงราช อายุ 39 ปี ชาวบ้านท่าช้าง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า ตนติดสุรามากว่า 20 ปี จากการทำสวนแล้วเพื่อนร่วมงานชวนดื่ม จากที่ไม่ดื่มก็กลายเป็นดื่มทุกวัน จากที่ดื่มทุกวันก็เพิ่มปริมาณเป็นวันละครึ่งขวด แม้ภรรยาจะเอ่ยปากขอให้เลิกดื่ม แต่ ณ ตอนนั้นยังไม่สามารถเลิกได้ สุดท้ายจึงต้องแยกทางและไม่ได้เลี้ยงดูลูกชาย และส่งผลให้พ่อของตนเครียดและเสียชีวิตในที่สุด ปัจจุบันนี้ตนจึงเหลือแม่เพียงคนเดียวที่ต้องดูแล
"ผมเก็บเอาความเศร้า ความท้อแท้ ความกดดันมาเป็นพลังในการเลิกเหล้า เพราะไม่อยากให้ลูกโดนว่ามีพ่อขี้เหล้า ตอนนี้ผมเลิกได้ประมาณ 4 เดือนแล้วแต่ยังคงจิบหรือดื่มบ้างเมื่อออกงานสังสรรค์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนเคยช็อกเพราะหยุดดื่มกะทันหันจึงต้องไปพบแพทย์เพื่อบำบัด จึงรู้ว่าคนที่ดื่มหนักอย่างผมไม่สามารถหักดิบได้ ต้องเริ่มจากการลดปริมาณลง จิบน้ำหวาน บ่อยๆ ผมชอบดื่มน้ำเก๊กฮวยกับเฉาก๊วย และยังต้องรับยาบำบัดจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง แม้วันนี้ที่ผมเลิกดื่มได้จะเสียครอบครัวไปแล้ว แต่พอได้เห็นรอยยิ้มของแม่ก็ทำให้ผมมีความสุข มีกำลังใจที่จะเลิกให้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปตอนนั้นได้ก็ไม่อยากให้ครอบครัวแตกแยก ตอนนี้ผมจึงพยายามร่วมกิจกรรมเลิกเหล้าในชุมชน เชิญชวนคนใกล้ตัวให้หันมาเลิกเหล้าเพื่อที่เขาจะได้หลุดพ้นจากวงจรเหล่านี้" นายสุทินเล่า
หลายๆ คนอาจคิดว่าเมื่อได้รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนดื่มแต่ละครั้งเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดี หรือเป็นการพบปะเพื่อนเก่าที่นานๆ ได้เจอกันครั้งหนึ่ง แต่หากเรายังสานต่อวงเหล้าจนเป็นเรื่องธรรมดาในกิจวัตร อาจทำให้การรวมตัวกลุ่มเพื่อนครั้งต่อไปเป็นการมารวมตัวกันในวงเศร้า มากกว่าวงที่จะมาเล่าเรื่องเฮฮาหรือความทรงจำดีๆ ร่วมกัน