หยุดรุนแรงต่อเด็ก-สตรี รู้สิทธิมนุษยชน

กุญแจ แก้สังคมเฟะ

 

หยุดรุนแรงต่อเด็ก-สตรี รู้สิทธิมนุษยชน

เป็นเวลาต่อเนื่องมาถึง 1 ทศวรรษ หรือ 10 ปีแล้ว ที่ทาง องค์การสหประชาชาติ ประกาศรับรองให้วันที่ 25 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล โดยการประกาศรับรองนี้มีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 หลังจากที่การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีนั้นมีการริเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศแคนาดา ในปี 2534 ภายหลังการเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล 14 คน แล้วเกิดกลุ่มอาสาสมัครชายประมาณ 1 ล้านคน ทำการรณรงค์ให้มีการตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหานี้

   

ริบบิ้นสีขาวบนปกเสื้อ คือสัญลักษณ์การรณรงค์

   

และในประเทศไทยเราก็มีการรณรงค์เรื่องนี้เช่นกัน !!

   

ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทยนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 29 มิ.ย. 2542 กำหนดให้ เดือน พ.ย. ของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีเพื่อมุ่งเน้นที่จะให้เกิดการตระหนัก ให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ทั้งต่อสตรี และต่อเด็ก ซึ่งคนไทยทุกกลุ่ม-ทุกเพศก็ควรจะช่วยกัน 

   

แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการกำหนดให้เดือน พ.ย. เป็น เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี มาเป็นเวลาถึง 10 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบันปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีก็ยังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะในเชิงของการเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว

   

ยกตัวอย่างข้อมูลจากเว็บไซต์ของ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก-สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ในช่วง 30 วันก่อนหน้า มีการบันทึกเหตุการณ์ทั้งสิ้น 20 เหตุการณ์

   

ขณะที่ข้อมูลย้อนหลังในภาพรวมเกี่ยวกับจังหวัดที่มีการรายงานสถานการณ์ความรุนแรง จังหวัดที่มีรายงานมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 1,355 เหตุการณ์ ตามด้วยแพร่ 51 เหตุการณ์, นครศรีธรรมราช 49 เหตุการณ์, สมุทรปราการ 45 เหตุการณ์, พิษณุโลก 35 เหตุการณ์ โดยที่ประเภทความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ทำร้ายร่างกาย 1,418 เหตุการณ์, หยาบคาย / ตะคอก / ประจาน / ขู่ / บังคับ 219 เหตุการณ์, ข่มขืน / กระทำชำเรา 216 เหตุการณ์, ดุด่า / ดูถูก 161 เหตุการณ์, การละเลย / ทอดทิ้ง 144 เหตุการณ์

   

นอกจากนี้ จากรายงานสถิติความรุนแรงต่อเด็ก-สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2548 ถึงเดือน ก.พ. 2551 ซึ่งก็มีทั้งการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน ถูกอนาจาร ถูกทอดทิ้ง กักขัง หน่วงเหนี่ยว พรากผู้เยาว์ พยายามฆ่า ฆาตกรรม และอื่น ๆ รวมแล้วมี 10,816 เหตุการณ์ โดยผู้ที่เป็นผู้กระทำนั้นก็มีทั้ง สามี บิดา บิดาเลี้ยง มารดา มารดาเลี้ยง ญาติ เพื่อน คนรู้จัก คนแปลกหน้า นายจ้าง และกลุ่มอื่น ๆ อีกส่วนหนึ่ง

   

เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงระดับ และรูปแบบปัญหาความรุนแรง  ต่อเด็กและสตรีในไทย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะด้านร่างกาย แต่ยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น ความรุนแรงต่อจิตใจ อารมณ์ ความรุนแรงทางวาจา ความรุนแรงในที่ทำงาน รวมถึงการบังคับ กักขัง หน่วงเหนี่ยวอิสรภาพ ซึ่งในไทยก็มีการรณรงค์ติดเข็มกลัด ริบบิ้นสีขาวในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ไม่ยอมรับ-ไม่นิ่งเฉย-ไม่กระทำ…ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

   

และเรื่องนี้จริง ๆ แล้วก็เกี่ยวข้องกับ สิทธิมนุษยชน

   

อันเป็นเรื่องสำคัญระดับสากล-เรื่องที่คนไทยต้องใส่ใจ

               

ทั้งนี้ พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ไว้ว่า… สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิของความเป็นคน จึงต้องร่วมกันปกป้องและหวงแหนพร้อมทั้งยังระบุไว้อีกว่า… สิทธิมนุษยชนนั้นถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ หมายถึง สิทธิของคน หรือสิทธิของความเป็นคน ที่ทุกคนมีมาตั้งแต่เกิดและอยู่ตลอดต่อเนื่องไปจนกระทั่งตาย ซึ่งมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้จะประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 3 ประการ ได้แก่…..

   

ร่างกาย เช่น มือ เท้า ศีรษะ ลำตัว เป็นต้น, จิตใจ หรือจิตวิญญาณ ไม่มีลักษณะทางกายภาพ สัมผัสไม่ได้ แต่จะรับทราบได้เมื่อผ่านกระบวนการแสดงออกของร่างกาย เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ เศร้าหมอง หวาดกลัว หมดสติ เสียสติ เป็นต้น และ สิทธิเป็นนาม ธรรมเช่นกัน เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ หรือรับรอง โดยธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี และกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ ซึ่งในส่วนของสิทธินี้ก็แบ่งเป็น 2 ระดับคือ… สิทธิขั้นพื้นฐาน ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ความปลอดภัย เป็นต้น และ สิทธิ ขั้นพัฒนา เช่น การสื่อสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เป็นต้น

   

ถ้าไม่รู้เรื่องสิทธิ ก็จะไม่รู้ว่าถูกละเมิดสิทธิ และอาจไปละเมิดสิทธิผู้อื่นได้” …กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด ระบุไว้ ซึ่งทางกรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบันก็เร่งทำงานเชิงรุกเต็มที่

   

คนไทยรู้เรื่องสิทธิ…ไม่ถูกละเมิดสิทธิ-ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

   

ไม่ยอมรับ-ไม่นิ่งเฉย-ไม่กระทำ…รุนแรงต่อเด็กและสตรี

   

ก็จะช่วย แก้ปัญหาในสังคมไทยได้…อย่างมาก !!.

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update: 16-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code