หยุดบุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติด ผ่านสปอตโฆษณาดีๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
หยุดบุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติด ผ่านสปอตโฆษณาดีๆ
ท่ามกลางข่าวคราวผลกระทบจากพิษภัยบุหรี่และยาเสพติดจะแก้ปัญหาให้หมดสิ้นอย่างไรดีนั้น สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนส่งผลงานเข้าประกวดจัดทำสื่อรณรงค์ประเภทสปอตโฆษณา ในหัวข้อ "บุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติด" ระดับอุดมศึกษา และหัวข้อ "Stop Drugs Start Change" ระดับมัธยมศึกษา เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกประจำปี 2561 ที่เพิ่งประกาศผลไปหมาดๆ ซึ่งเห็นชัดถึงเรื่องราวที่น่าสนใจและกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ไม่ข้องเกี่ยวยาเสพติด และเตรียมออกอากาศเป็นสื่อโฆษณาในโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และจอ LCD ขนาดใหญ่ตามสถานที่สำคัญทั่วประเทศไทย
เวทีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจากสถานศึกษา 80 แห่ง โดยทีมวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ สร้างผลงานที่โดดเด่น ชื่อ Reflection คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง หัวข้อ "บุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติด" ส่วนแชมป์ระดับภูมิภาคภาคกลาง ได้แก่ วิทยาลัยพาณิชยการบึงพระพิษณุโลก ชนะเลิศภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตกเป็นของวิทยาลัยการอาชีพบำเหน็จ ณรงค์ ส่วนหัวข้อ "stop drug start change" ลุ้นกันสุดๆ โรงเรียนบ้านคูณสระแก้ว (วิชานนท์ประชานุกูล) จ.บุรีรัมย์ ชนะเลิศจากผลงาน เลิกยา กล้าเปลี่ยน โดย นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม เป็นประธานมอบรางวัลให้กับเยาวชน
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บุหรี่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บุหรี่เป็นประตูด่านแรกของการติดยาเสพติดชนิดอื่นๆ หรือที่เรียกว่า Gate Way Drug ผู้ที่ติดยาเสพติดเกือบทั้งหมดเริ่มจากการเสพติดบุหรี่ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่ติดบุหรี่เมื่อตอนอายุน้อย จากผลสำรวจข้อมูลการสูบบุหรี่ของเยาวชนในประเทศไทย ปี 2557 พบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่มีการใช้ยาเสพติดชนิดอื่นมากกว่าเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 17 เท่า และที่สำคัญเยาวชนไทยที่สูบบุหรี่ 7 ใน 10 คนจะเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ดร.นพ.บัณฑิตกล่าวว่า มีเยาวชนที่เป็นนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 200,000 คน ในขณะที่ข้อมูลเข้ารับการบำบัดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2558 มีมากถึง 55,683 คน แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงแต่กลับพบว่าผู้เข้ารับบำบัดเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 ฝากเชิงนโยบายถึง ป.ป.ส. ศธ. แทนที่จะป้องกันแก้ปัญหายาเสพติด ควรมุ่งเน้นป้องกันการสูบบุหรี่และดื่มสุรา เพราะเป็นปากทางสู่ยาเสพติด
"บุหรี่มีสารประกอบกว่า 600 ชนิดในแต่ละมวน ถ้าเผาไหม้แล้วเป็นสารพิษกว่า 7,000 ชนิด ในจำนวนนี้มี 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง มีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ 50,000 คนต่อปี จากโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง และโรคความดัน ขณะที่คนไทยตายจากอุบัติเหตุปีละ 24,000 คน บุหรี่สร้างความเสียหายมากกว่า 2 เท่า จำเป็นต้องมีการรณรงค์กระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติหันมาเลิกสูบ ภัยบุหรี่นอกจากทำร้ายตัวเอง บุหรี่มือสองยังทำร้ายคนใกล้ชิด บุหรี่มือสาม คือ ขี้บุหรี่ส่งผลกระทบสุขภาพ ถ้าเลิกสูบได้จะช่วยให้ไทยลดความสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควรและค่ารักษาพยาบาล การผลิตสื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งช่วยเปลี่ยนความคิด" ดร.นพ.บัณฑิตกล่าว
จักรินทร์ สุนทรารักษ์ นักศึกษาชั้น ปวส. ตัวแทนทีมวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ เผยถึงผลงานชนะเลิศ ชื่อ Reflection ว่า สนใจร่วมโครงการนี้เพราะเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เราได้แสดงไอเดียและช่วยพัฒนาทักษะการทำสื่อ โดยตนและสมาชิกทีม 2 คน เลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องจริงในสังคมไทย มีวัยรุ่นทดลองเสพยา โฆษณานี้ความยาว 1 นาที สัมภาษณ์คนเสพยา บอกเล่าถึงผลเสีย ช่วงท้ายตั้งคำถาม ถ้าคนที่คุณรักรู้ว่าคุณเสพยาจะรู้สึกอย่างไร เพื่อเปิดให้ผู้ชมได้คิด อยากให้มีคนดูเยอะๆ เพราะยาเสพติดไม่ได้ทำร้ายแค่ผู้เสพ แต่ส่งผลร้ายกับสังคม
นฐวรรณ จงปัตนา ครู รร.บ้านคูณสระแก้ว (วิชานนท์ประชานุกูล) บุรีรัมย์ ซึ่งพาทีมนักเรียนเจ้าของผลงาน เลิกยา กล้าเปลี่ยน มารับรางวัลที่กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ กล่าวว่า สื่อโฆษณาชิ้นนี้นักเรียนช่วยกันคิดจนได้โครงเรื่อง มีการเปรียบเทียบเด็กเสพยากับเด็กเลิกเสพยาเกิดผลลัพธ์อย่างไร ตัวละครเอกมีคนเดียว คนดูจะเห็นถึงผลดีกับผลเสียชัดเจน มั่นใจเป็นสื่อดีเกิดประโยชน์ พร้อมทั้งเปลี่ยนความคิดคนที่อยากลองเสพยา ดึงสติเยาวชนกลับมาได้ทันที ภาพรวมผลงานที่เข้าแข่งขันสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนมีชีวิตที่ดีมีความสุข หากไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดและบุหรี่