หยุดบุหรี่ก่อนพ่าย! สสส. ผนึก กทม. ชง 4 มาตรการดันนักกีฬาเยาวชนไทยไร้ควัน ตั้งเป้าศูนย์ฝึกกีฬาเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                   สสส. สถาบันยุวทัศน์ฯ จับมือโรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร ชง 4 มาตรการ ป้องกัน-ควบคุม นักกีฬาเยาวชน ห่างไกลจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

                   เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2568 ที่โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพฯ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จัดแถลงข่าวประกาศนโยบายศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนกรุงเทพมหานครปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ผลักดัน 4 มาตรการสร้างนักกีฬาเยาวชนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อคงสมรรถภาพและการฟื้นฟูร่างกายของนักกีฬาพร้อมป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจของนักกีฬาเยาวชน


                   นายพิทยา จินาวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2567 พบคนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่ลดลงอยู่ที่ 16.5% แต่มีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเป็น 900,459 คน เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี 251,625 คน ถือว่าเพิ่มขึ้นกว่า 11 เท่าในเวลา 3 ปี สะท้อนว่าอุตสาหกรรมยาสูบมีการปรับกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมากขึ้น ทั้งนี้ นักกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะนักกีฬาเยาวชน ต้องใช้ร่างกายที่มีความแข็งแรงเป็นพื้นฐานร่วมกับประสบการณ์และการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง จึงจะสร้างโอกาสชนะการแข่งขันกีฬา หากนักกีฬาเยาวชนมีร่างกายไม่สมบูรณ์จากการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า จะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง


                   “สารนิโคตินในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลต่อกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ลดความสามารถในการส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อ มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจติดขัด เกิดความเสี่ยงในระบบทางเดินหายใจรวมถึงลดประสิทธิภาพทางเดินหายใจ ผลกระทบเหล่านี้ทำให้เกิดโอกาสความพ่ายแพ้ในการแข่งขันในทุกกีฬา รวมถึงการแข่งขันระดับนานาชาติที่ไม่สามารถสู้กับนักกีฬาเยาวชนในประเทศอื่น ๆ ได้ การประกาศ 4 มาตรการสู่การปฏิบัติในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ กทม. โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มุ่งเน้นทำให้นักกีฬาเยาวชนในการดูแลกว่า 700 คน เป็นต้นแบบในการไม่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้โรงเรียนกีฬาทั่วประเทศดำเนินมาตรการดังกล่าวร่วมกันต่อไปในอนาคต” นายพิทยา กล่าว


                   ด้านนายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า กกท. ร่วมสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะนักกีฬาเยาวชน ซึ่งได้มอบนโยบายให้ศูนย์กีฬาหรือสนามกีฬาทั่วประเทศ ภายใต้การดูแลของ กกท. ต้องแสดงสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า กรณีมีประชาชนละเมิดหรือฝ่าฝืน จะดำเนินการตามกฎหมายทันที นอกจากนี้จะประสานไปยังสมาคมกีฬาประจำจังหวัดให้มีมาตรการตรวจสอบหรือดูแลนักกีฬาเยาวชนไม่ให้เป็นผู้สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า หากพบนักกีฬาเยาวชนเป็นผู้สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า จะกำหนดมาตรการลงโทษ เช่น กล่าวตักเตือนหรืองดเว้นการเข้าร่วมรายการแข่งขันเป็นรายครั้ง รวมถึงจะประสานสถานพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้นักกีฬาเยาวชนสามารถเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ได้


                   “กกท. ในฐานะผู้กำกับดูแลสมาคมกีฬาประจำจังหวัด และนายทะเบียนสมาคมกีฬาทุกประเภท จะมีหนังสือแจ้งเวียนไปยังสมาคมกีฬาทุกแห่งทันที เพื่อขอความร่วมมือให้ดูแลนักกีฬาเยาวชนเพื่อร่วมกันป้องกันการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ และกำหนดให้มีการตรวจร่างกายเป็นประจำ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะทำให้นักกีฬาเยาวชนของประเทศไทย มีความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ สำหรับรายการแข่งขันกีฬาในทุกรายการ และจะสร้างโอกาสชนะการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นด้วย” รองผู้ว่า กกท. กล่าว


                   นางสาวรุจิรา อารินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. กล่าวว่า สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ในฐานะที่กำกับดูแลศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนกรุงเทพมหานคร (โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร) จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนดินแดง ศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนธนบุรี และศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนมีนบุรี มีนักกีฬาเยาวชนทุกประเภทกีฬาในการดูแลทั้งสิ้น 745 คน จึงได้ประกาศมาตรการ 4 ข้อ 1.ให้ศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนทุกแห่ง เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงติดป้ายประกาศรอบศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชน 2.นักกีฬาเยาวชนทุกคนต้องไม่เป็นผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และให้ผู้ดูแลนักกีฬาเป็นผู้ประสานงานกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ในกรณีที่นักกีฬาเยาวชนประสงค์จะเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 3.ตรวจสอบนักกีฬาเยาวชนและอาคารที่พักนักกีฬาเป็นประจำ เพื่อป้องกันการพกพาหรือเก็บซ่อนบุหรี่ไฟฟ้า 4.จัดอบรมให้ความรู้หรือจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเกี่ยวกับอันตรายจากการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ ร่วมกับ ยท. มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หรือเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อให้ทั้ง 4 มาตรการที่บังคับใช้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถของนักกีฬาเยาวชนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรง สามารถคงสมรรถภาพ พร้อมป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code