‘หยุดคำร้าย’ ลดความรุนแรงด้านจิตใจ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'หยุดคำร้าย' ลดความรุนแรงด้านจิตใจ thaihealth


เมื่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตกเป็นข่าว ใหญ่ในสังคมมาอย่างไม่ขาดสาย การรณรงค์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) จึงต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


ในปีนี้ มุ่งเน้นประเด็น "สร้างสรรค์ครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์" ด้วยคำขวัญว่า "หยุดคำร้ายทำลายครอบครัว"


กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) ของพม.จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการนี้ ร่วมกับ ศ.คลินิก นพ.พรชัย มูลพฤกษ์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีฝ่ายการคลังและการพัสดุ และผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ กระทรวงพม. สะพานขาว กรุงเทพฯ


ภายในงานกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเปิดผลสำรวจความคิดเห็น 10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1) เหนื่อยไหม 2) รักนะ 3) มีอะไรให้ช่วยไหม 4) คำชมเชย (เก่ง/ดี/เยี่ยม) 5) ไม่เป็นไรน่ะ 6) สู้ๆ นะ 7) ทำได้อยู่แล้ว 8) คิดถึงนะ 9) ขอบคุณนะ และ 10) ขอโทษนะ


ส่วน 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1) ไปตายซะ 2) คำด่า (เลว/ชั่ว) 3) แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย 4) ตัวปัญหา 5) ดูลูกบ้านอื่นบ้างสิ 6) น่ารำคาญ 7) ตัวซวย 8) น่าเบื่อ 9) ไม่ต้องมายุ่ง 10) เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง


ด้านคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสสส. จัดสำรวจความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ช่วงเดือนตุลาคม 2559 -มกราคม 2560 เป็นการสำรวจครั้งแรกและเป็นระดับประเทศ (National Survey) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหา


'หยุดคำร้าย' ลดความรุนแรงด้านจิตใจ thaihealth


วิธีการสถิติใช้การสุ่มสำรวจทั่วประเทศ จำนวน 2,280 ครัวเรือนจาก 5 ภาค พบว่า ร้อยละ 34.6 มีความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว โดยอันดับ 1 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ถึงร้อยละ 32.3 ทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5 ภูมิภาคที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือ ภาคใต้ ร้อยละ 48.1 ส่วนกรุงเทพ มหานคร พบความรุนแรงในครอบครัวน้อยที่สุด ร้อยละ 26


ผลสรุปของการสำรวจครั้งนี้ พบว่า สาเหตุความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากการทำร้ายทางจิตใจด้วยวาจา จึงเป็นที่มาของการรณรงค์การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวไทย และกระตุ้นให้คนในครอบครัวใช้คำพูดที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างความปรองดองในครอบครัวและช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว


สำหรับ สสส. นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าวว่า สสส.สนับสนุนในเรื่องการยุติความรุนแรงในหลายด้าน เช่น การส่งเสริมความรู้การจัดเก็บข้อมูล ความรุนแรง เพื่อให้เห็นข้อมูลความรุนแรงชัดขึ้น การสำรวจความรุนแรง ช่วงปีพ.ศ.2557-2559 พบว่าเกิดความรุนแรงกับผู้สูงอายุเยอะมากเป็นตัวเลขถึง 6,000 กว่าราย เป็นความรุนแรงทางจิตใจ เกิดทางคำพูดการโต้ตอบมีปากเสียงกันในบ้าน อีกทั้งความรุนแรงในผู้หญิงและครอบครัวเราก็พบว่าเป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ 32% หรือ 1 ใน 3 ของผู้หญิง สูงกว่าด้านร่างกายและเรื่องเพศ


นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุนการพัฒนาตัวหลักสูตร การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง เพราะหากเจ้าหน้าที่ไม่ละเอียดอ่อนพอในการจัดการปัญหา เหมือนการ กระทำซ้ำต่อผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมา จำเป็นที่จะต้องมีความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้มากขึ้น


อีกส่วนหนึ่งที่สสส.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมคือ ร่วมผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรง เช่น พ.ร.ก.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง พ.ร.ก.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และยังรณรงค์เรื่องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ปรับทัศนคติของผู้ชายอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code