หยุดกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หยุดทำร้ายด้วยปลายนิ้ว
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2563 มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ
ทุกวันนี้ใคร ๆ ต่างก็เป็นสื่อได้ การสร้างและส่งต่อเรื่องราวต่าง ๆ สามารถทำได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก แม้จะอยู่คนละมุมโลก เรื่องราวนั้นก็สามารถส่งถึงกันง่ายๆ ในเวลาเสี้ยววินาที เพียงแค่ใช้ปลายนิ้วของเราคลิกที่เมาส์ หรือสัมผัสบนหน้าจอสมาร์ทโฟนแล้วกดปุ่มแชร์เพื่อส่งต่อออกไป ในเมื่อการส่งต่อเรื่องราวนั้นทำได้ง่ายแสนง่ายแค่เพียงใช้ “ปลายนิ้ว” ด้วยความสะดวก รวดเร็วของเทคโนโลยีแบบนี้ แต่นั่นกลับกลายเป็นดาบสองคม ที่สร้างช่องโหว่ให้เกิดการทำร้ายคนอื่นง่าย ๆ ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่า เรากำลังหมายถึงอาวุธร้ายที่เข้าถึงง่ายและทำลายชีวิตคนมามากมายอย่าง “ไซเบอร์บูลลี่”
ทุกวันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ถือเป็นวันหยุดกลั่นการแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือวันหยุดการระรานทางไซเบอร์สากล (Stop Cyberbullying Day) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดย Cybersmile Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงของการระรานทางไซเบอร์และร่วมหยุดพฤติกรรมและการกระทำดังกล่าว
เชื่อว่าหลายคนทราบกันดีว่าภัยของไซเบอร์บูลลี่นั้น อันตรายมากแค่ไหน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้ปัญหานี้หมดไป เพราะก็ยังมีกลุ่มคนบางส่วนที่ยังมองว่า เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย หยอกล้อกันสนุกสนาน หรือบางครั้งอาจจะรู้ แต่ก็จงใจทำให้อีกฝ่ายได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของเด็กและเยาวชน
ถึงแม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะระบุอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถเปิดบัญชีใช้งานไว้ที่ 13 ปี เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สื่อเหล่านี้ เพราะเด็กอายุต่ำกว่านี้ ยังไม่อยู่ในวัยที่จะมีทักษะควบคุมหรือป้องกันตัวเองจากการกลั่นแกล้งได้ และอาจตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งออนไลน์ในที่สุด แต่ยังมีเด็กอายุต่ำกว่ากำหนดจำนวนไม่น้อยที่โกงอายุตัวเองเพื่อให้สมัคร เข้าใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ได้
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า การถูกระรานทางออนไลน์ ถือเป็นมหันตภัยทางออนไลน์ที่กลับพบเห็นได้ทั่วไป ผู้เป็นเหยื่อมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตจนเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตและสุขภาพตามมา
“ปัญหาการถูกบูลลี่ผ่านโลกออนไลน์ในเด็กและเยาวชน เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ สสส. และคณะทำงานร่วมกันผลักดันในการทำข้อมูลในเชิงวิชาการและผลักดันไปสู่นโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง ซี่ง สสส. และสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน(สสดย.) ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ เสนอต่อวุฒิสภา ดังนี้ 1.ระบบการป้องกันปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กก่อนอายุ 13 ปี 2.ระบบการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ มีมาตรการทางกฎหมาย และแนวทางการทำงานที่จะสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ 3.พัฒนาองค์ความรู้และการสื่อสารในสังคม และ 4.หน่วยงานกลางที่มีความยืดหยุ่นเป็นศูนย์กลางในการดูแลเด็กและเยาวชนอย่างเป็นองค์รวม” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ มีอยู่ทั้งหมด 7 รูปแบบ ได้แก่
1. การก่อกวน ข่มขู่คุกคาม
2. การให้ร้ายใส่ความ การแกล้งแหย่
3. การเผยแพร่ความลับ
4. การกีดกันออกจากกลุ่ม
5. การแอบอ้างชื่อ การสร้างบัญชีปลอม
6. การขโมยอัตลักษณ์
7. การล่อลวง
* โดยรูปแบบที่ถูกกลั่นแกล้งมากที่สุดคือการถูกก่อกวน ข่มขู่คุกคาม คิดเป็น 50 %
แนวทางการรับมือและป้องกันการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
สำหรับตัวเด็กและเยาวชน ทำตามคำแนะนำ ดังนี้
– STOP หยุดระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน หยุดตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
– BLOCK ปิดกั้นผู้ที่ระราน ไม่ให้เขาสามารถติดต่อ โพสต์ หรือระรานเราได้อีก
– TELL บอกพ่อแม่ ครู หรือบุคคลที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือถูกข่มขู่คุกคาม ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์ระรานรังแกไปแจ้งเจ้าหน้าที่
– REMOVE ลบภาพหรือข้อความระรานรังแกออกทันที โดยอาจติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์
– BE STRONG เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
สำหรับครอบครัว เพื่อน บุคคลรอบตัวเด็ก และเยาวชน
– รับฟังอย่างจริงใจ
– ให้ความรัก ความอบอุ่น
– ให้ความช่วยเหลือ เช่น ลบ ปิดกั้น หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– ร่วมผลักดันให้เกิดมาตรการกฎหมาย
สำหรับผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์
– มีกฏ กติกา ดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง
– มีปุ่มรับแจ้งหรือรายงาน กรณีถูกกลั่นแกล้ง รังแก
– มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือ
– ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมาย
สสส. ขอรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย และสร้างสรรค์ รู้เท่าทันภัยต่างๆ ในโลกโซเชียล โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยยังต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 เช่นนี้ มาร่วมกันส่งต่อ แบ่งปันข้อมูลดีๆ ที่เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศสังคมออนไลน์ให้น่าสนใจ และติดตาม รวมทั้งช่วยกันระมัดระวังไม่เผยแพร่และส่งต่อข่าวปลอม สร้างความสับสนให้กับสังคมด้วย
ใครจะรู้ว่าแค่หนึ่งคอมเมนต์ หนึ่งแชร์ ที่ถูกส่งต่อออกไปสู่สายตาอีกเป็นพันเป็นหมื่นคู่ ที่อาจจะเกิดจากความสนุกสนาน ความไม่ตั้งใจ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำให้ใครบางคนมีบาดแผล เจ็บปวด หรือเกิดอันตรายถึงชีวิต ทุกอย่างเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา หยุดคิดสักนิด ก่อนคอมเมนต์ ก่อนแชร์ หากไม่อยากสร้างบาดแผลในใจใคร ร่วมกัน “หยุดกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หยุดทำร้ายด้วยปลายนิ้ว”