หมูหลุม-ไร่รวงข้าว วิถีอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พรประไพ เสือเขียว


หมูหลุม-ไร่รวงข้าว วิถีอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม thaihealth


แฟ้มภาพ


ก้าวสู่ปีที่ 5 สามพรานโมเดล โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เติบโตขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาดสุขใจ ศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ มีลูกค้าแวะเวียนมาจับจ่ายสินค้าราว 2,000 คนต่อสัปดาห์ และยังขยับขยายไปเปิดตลาดนัดสุขใจสัญจรในพื้นที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงเทพฯ


รูปแบบการส่งเสริมการตลาดของตลาดสุขใจสัญจร ในพื้นที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เชิญชวนให้ลูกค้าที่มียอดซื้อจำนวนมากจำนวน 50 คนได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรอินทรีย์ ในกิจกรรม Shop สุขใจพาเที่ยวสวนครั้งที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นำรถนิสสัน เอ็กซ์-เทรล 9 คัน เป็นพาหนะนำคณะเดินทางเยี่ยมชม ไร่รวงข้าว ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี และฟาร์มหมูหลุม วิสาหกิจหมูหลุมอินทรีย์วิถีชุมชน ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี


หมูหลุมอินทรีย์ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "หมูหลุม" คือวิถีการเลี้ยงหมูโดยยึดแนวคิดเกษตรกรรมธรรมชาติพึ่งพาตนเอง ใช้วิธีขุดหลุมแล้วใช้แกลบเพื่อรองวัสดุพื้นคอก ขจัดกลิ่น ตัดวงจรแมลงวัน และไม่มีน้ำเสียจากน้ำล้างคอกหมู ภายใต้สัญลักษณ์ G-PORK


สุพจน์ สิงห์โตศรี ในฐานะผู้บุกเบิกฟาร์มหมูหลุมอินทรีย์ ถ่ายทอดเรื่องราวให้ฟังว่า เดิมทีตัวเขาเคยทำงานอยู่หมูหลุม-ไร่รวงข้าว วิถีอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม thaihealthในระบบฟาร์มหมูมา 20 ปี เห็นระบบการเลี้ยงหมูแบบฟาร์มปิด เวลาหมูท้องเสีย ไอ จาม จะใช้วิธีฉีดยาปฏิชีวนะ โดยจะฉีดบริเวณคอ รวมทั้งการตัดฟัน ตัดหางหมู เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ตัวหมูได้ง่าย หากหมูเกิดอาการเครียดจะกัดกัน ซึ่งในธุรกิจเลี้ยงหมูระบบฟาร์มปิดมีการเลี้ยงหมูหมุนเวียนในตลาด 16 ล้านตัว และมีหมู 30 % ที่เป็นหมูป่วยต้องคัดออกจากระบบฟาร์ม หมูเหล่านี้ตามหลักสุขาภิบาลต้องนำไปเผา แต่หมูมีมูลค่า เกษตรกรเสียดาย ดังนั้นหมูเหล่านี้จึงไปเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารในร้านข้าวแกงราคาถูก


สุพจน์บอกว่าเลือกที่จะเดินออกจากฟาร์มหมูในระบบปิด ศึกษาการเลี้ยงหมูที่ปลอดภัย ตามวิถีในอดีต โดยใช้แกลบ ฟางข้าว รองก้นหลุมทำให้หมูไม่เป็นโรคปากเท้าเปื่อย จึงไม่ต้องใช้ยา ปฏิชีวนะ ขณะวิถีชีวิตของหมูหลุม ที่อึและฉี่อยู่ในคอก หมักหมมกลายเป็นปุ๋ยคอกชั้นดี ส่วนวิธีหยุดกลิ่นขี้หมูใช้จุลินทรีย์ที่ได้จากหมักน้ำตาลทรายแดงกับเศษใบไม้มาเป็นอาหารหมูและราดพื้นคอก หมูมีสุขภาพดีขึ้นไม่ต้องดมอึ ฉี่ตัวมันเอง ต่างกับหมูที่อยู่บนพื้นซีเมนต์ ที่ดมของเสียของตัวเองตลอด 120 วัน ส่งผลให้หมูต้านทานโรคภัยต่ำจึงไม่ต้องใช้วัคซีนเข้าช่วย


"ระยะเวลาเลี้ยงหมูหลุมใช้เวลา 6 เดือน จึงขายได้ นอกจากจะขายหมูได้ ขี้หมูยังโกยไปขายเป็นปุ๋ยได้"


แนวทางการเลี้ยงหมูแบบวิสาหกิจชุมชน จะใช้วิธีแลกเปลี่ยนวัตถุดิบกันกับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีอาชีพทำนา และทำสวน ระยะเวลาที่เลี้ยงหมู 6 เดือน เมื่อคำนวณการใช้แกลบ หมู 1 ตัวจะใช้แกลบ 100 กก. เมื่อเลี้ยงครบ อายุหมูขายได้ เกษตรกรจะได้ปุ๋ยขี้หมู 500 กก. ขายใน กก.ละ 2 บาท ในปุ๋ยจากหมูหลุมมีค่าไนโตรเจน และฟอสฟอรัสสูงกว่าระบบฟาร์มหมูทั่วไปถึง 4 เท่า ซึ่งมาจากจุลินทรีย์ที่มีสูตรหมักเฉพาะ ปัจจุบันนอกจากการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มแล้วยังแบ่งขาย ซึ่ง กำลังการผลิตปุ๋ยที่มีอยู่ไม่พอขาย เพราะได้ทดลองนำปุ๋ยขี้หมูไปปลูก แคนตาลูป ปรากฏว่าได้ผลดี รสชาติของแคนตาลูปมีระดับความหวานเทียบเท่ากับผลไม้ที่ใช้สารเคมี ซึ่งขายกันที่ กก.ละ 70 บาท


ปัจจุบันฟาร์มของคุณสุพจน์เลี้ยงหมู 300 ตัว ทำในระบบหมูหลุมทั้งหมด ขณะที่ราคาเนื้อหมูอินทรีย์ขายกันสูงกว่าท้องตลาดถึง 20 บาท ตอนนี้ผลผลิตขายอยู่ที่ตลาดสุขใจ และโรงเรียนปัญโญไทย และในห้างสรรพสินค้าทั่วไปหมูหลุม-ไร่รวงข้าว วิถีอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม thaihealth


ปัจจุบันการผลิตหมูหลุมที่ ต.ดอนแร่ นำวัตถุดิบป้อนตลาด สุขใจ เช่นเดียวกับผลผลิตของไร่รวงข้าว หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ร่มเย็น ที่ตั้งอยู่ใน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ป้าลำพึง ศรีสาหร่าย หญิงร่างเล็กในวัย 50 ปี เข้ามาพลิกฟื้นผืนดิน 15 ไร่ ให้เป็นไร่รวงข้าว G เข้ามาบุกเบิกทำเกษตรอินทรีย์ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ป้าลำพึง เล่าระหว่างพาลูกค้าตลาดสุขใจเยี่ยมชมพื้นที่ว่า พื้นที่ 15 ไร่แบ่งแปลงปลูกผักผลไม้ผสมผสาน อาทิ แครอท ไชเท้า คะน้า กวางตุ้ง ผักสลัด มันญี่ปุ่น ต้นหม่อน กล้วย มะม่วงหาวมะนาวโห่ ปลูกแบบผสมผสานเพื่อลดการใช้สารเคมี โดยเฉพาะการปลูกต้นทองอุไร ดอกสีเหลืองช่วยไล่แมลงศัตรูพืช นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่ 3 ไร่ ปลูกป่าเพื่อแทนคุณแผ่นดิน


อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสามพรานริเวอร์ไซด์และเลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ริเริ่มโครงการสามพรานโมเดล กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจพืชผักของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าพืชผักออร์แกนิกที่ขายในท้องตลาด 25% ปนเปื้อนสารเคมี จากข่าวนี้ส่งผลให้ลูกค้าเดินเข้ามาตลาดสุขใจเพิ่มขึ้นถึงวันละ 200 คน ดังนั้นวิธีที่ดีสุดคือพาผู้บริโภค มาเจอเกษตรกรโดยตรง เพื่อเข้าใจวิถีอินทรีย์แล้วสามารถย้อนกลับไปปลูกกินเองได้ เหล่านี้คือสังคมใหม่ผ่านห่วงโซ่สินค้าอินทรีย์


"โครงการสามพรานโมเดล"ดำเนินการภายใต้ แนวคิดการ ขับเคลื่อนของการสร้างสังคมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของ คุณอรุษ นวราช โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขณะเดียวกันได้จัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า "ตลาดสุขใจ" ในพื้นที่ของโรงแรมรวมทั้งโรงแรมสามพรานรับซื้อผลผลิตส่วนหนึ่งเพื่อมาเป็นวัตถุดิบให้กับแขกผู้มาพัก.

Shares:
QR Code :
QR Code