หมั่นทำความสะอาด ลดพาหะนำโรค
ที่มา : เว็บไซต์กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมอนามัย” แนะนำให้ประชาชน ควรทำความสะอาดอาคารบ้านเรือนสม่ำเสมอ ให้เป็นเขตปลอดหนูและแมลงวัน โดยเฉพาะโรคฉี่หนู
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ เมื่อฝนหยุดและน้ำลด ปัญหาที่ตามมาคือ น้ำชะจากกองขยะ ซากสิ่งปฏิกูล เศษอาหารและเศษผักผลไม้ที่หมักหมมตามท่อระบายน้ำ หรือตามพื้นที่ในจุดต่างๆ ทั้งในบ้าน บริเวณบ้าน และชุมชน ซึ่งหากไม่มีการจัดการ จะกลายเป็นแหล่งอาหารและ แหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์และแมลงพาหะนำโรคหลายชนิด ได้แก่ หนู แมลงวัน เป็นต้น โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Leptospira ที่จะมาพร้อมกับปัสสาวะ ปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง ตามดิน โคลน แม่น้ำลำคลอง และเข้าสู่ร่างกายของคนได้หากสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังที่เป็นแผล ถลอก รอยขีดข่วน หรือผิวหนังที่เปื่อยจากการแช่น้ำเป็นเวลานานๆ
นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก อาการของโรคฉี่หนูจะปรากฏขึ้นหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือ 3 สัปดาห์ จะ มีไข้สูง ปวดหัว เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง และอาจมีอาการรุนแรง คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง เนื่องจากเชื้อไปทำลายเซลล์ตับ และทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ในอวัยวะต่างๆ อักเสบ ร่างกายสูญเสียน้ำจากหลอดเลือด เกิดอาการช็อก ไตวายฉับพลัน และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อ จะทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อซึ่งทำให้แท้งหรือทารกในครรภ์เสียชีวิต
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า การกำจัดและการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและอนามัยสิ่งแวดล้อมในอาคารและบ้านเรือน สามารถทำได้โดยปิดช่องทางหนูวิ่งเข้าออกบ้านและอาคารด้วยลวดตาข่าย แผ่นโลหะ คอนกรีต อิฐ หิน เหล็ก หรือกระเบื้องหนาๆ หรือวัสดุอื่นๆ ส่วนประตูไม้นั้นตามขอบและมุมของด้านล่างควรหุ้มด้วยโลหะเพื่อป้องกันหนูแทะ สำหรับแมลงวัน ที่เป็นพาหะนำโรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรคและโรคหนอนพยาธิ บางชนิด มาสู่คน ต้องทำความสะอาดส้วมเป็นประจำและท่อระบายอากาศของส้วมมีตะแกรงป้องกันแมลงวัน ส่วนห้องครัวในบ้าน ร้านอาหาร สถานประกอบการอาหาร ควรกรุด้วยมุ้งลวดตาข่ายป้องกัน และต้องมีตู้เก็บอาหาร มีภาชนะที่สามารถปกปิดอาหารไม่ให้แมลงวันตอมได้
"การกำจัดแหล่งอาหาร ของหนู แมลงวัน ต้องกำจัดขยะ ประเภทเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ต้องเก็บไว้ในภาชนะที่ไม่รั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด และนำไปกำจัดอย่างถูกต้องหรือนำไปหมักทำปุ๋ย เป็นอาหารสัตว์ รวมทั้งหมั่นล้างทำความสะอาดถังขยะไม่ให้มีเศษขยะหมักหมม และต้องทำความสะอาดไม่ให้มีเศษอาหารหรือกลิ่นอาหารอยู่ ท่อน้ำทิ้งไม่ควรมีเศษอาหารค้างทิ้งไว้ และไม่อุดตัน ทำความสะอาดพื้นที่ห้องครัวสม่ำเสมอ รางระบายน้ำ กำจัดน้ำโสโครกอย่างถูกวิธี ไม่ให้ อุดตันและมีเศษอาหารตกค้าง รวมถึงทำความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัย ซักเสื้อผ้า ที่นอน หมอน อย่าเก็บหมักหมมไว้ คราบสกปรกจะเป็นอาหารของสัตว์และพาหะนำโรคได้" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว