หมอหลี หมอยาแห่งลุ่มน้ำเพชรฯ

 

ใครผ่านไปมาที่ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี อาจได้ยินชื่อของ ‘หมอหลี’ ที่อายุล่วง 80 เข้าไปแล้ว หากแต่ยัง แข็งแรง มีลูกหลานนอกสายเลือดแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชนิดหัวบันไดบ้านไม่แห้ง

หมอหลี หรือนายถาวร นงนุช สมาชิกรุ่นลายครามของหมู่ที่ 3 บ้านเหมืองทะโมน มาตั้งแต่รุ่นพ่อคือ ‘หมอไข่’ เดินทางจากเมืองจีนมารับใช้อยู่ในวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

“ปู่มากับอาจารย์จากเมืองจีน อาจารย์ท่านเชี่ยวชาญเรื่องยา และสมุนไพร สมุนไพรอาจารย์เขารักษาได้ทุกโรค อาจเป็นเพราะเมื่อก่อนโรคยังไม่เยอะขนาดนี้” หลานปู่ไข่ (ลูกสาวหมอหลี) ‘เชษฐ์’-เชษฐ์สุดา นงนุช ย้อนความหลังให้ฟัง

จากนั้นปู่ก็ล่องมาตามแม่น้ำเพชรบุรี และมาตั้งรกรากสร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านเหมืองทะโมน และพ่อของเชษฐ์เกิดที่นั่น เพราะ ปู่ชื่อไข่ ชาวบ้านแถบนั้นจึงเรียกกันติดปากว่า ‘หมอไข่’ ยามใครเจ็บไข้ไม่สบาย ก็มักไหว้วานให้ไปดูอาการ พอตรวจดูแล้วว่า เป็นอะไรหมอ ก็จะขึ้นเขาไปหาสมุนไพร ไม่ก็ลงทะเลเพื่อไปหาวัตถุดิบต่างๆ เอามาล้างทำความสะอาดแล้วปรุงเป็นยา

“สมัยก่อนคนเป็นโรคฝีดาษโรคเกี่ยวกับเลือด ฝี หนอง เสียเยอะ หลายครั้งปู่ก็ต้องไปเป็นหมอตำแยให้” หลานสาวท้าวความเรื่องปู่ ส่วนพ่อสมัยเด็กๆ ก็เที่ยวสะพายย่าม ถือมีดหมอเดินตามปู่ไปไหนต่อไหน เวลานั้นได้อาศัยเรียนรู้วิชาไปด้วย หมอหลีได้เรียนจนถึงชั้น ม.1 หลังจากนั้นก็มาเป็นหมอชาวบ้านเต็มตัว จนระยะเวลาผ่านไป ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์มาเยือนบ้านหม้อ อาทิสถานีอนามัย แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ ระบบบริการสาธารณสุขสมัยใหม่เข้ามาจัดระเบียบของเก่า ทำให้ยาหลายตำรับของหมอไข่หายไป

“เหลือไว้แค่ตัวยาที่ตรวจสอบได้ว่า ไม่มีผลข้างเคียงแน่นอน เพราะถ้าเป็นอันตรายทางจังหวัดจะไม่อนุญาตอีก อย่างสมัยนี้ โรคใหม่ๆ ก็เยอะ โรคเก่าที่เคยรักษาได้ก็หายไปด้วย แต่พ่อก็ไปอบรมเพิ่มเติมเรื่องคุณภาพ ความสะอาด และปลอดภัย กับทาง จังหวัดเพิ่มเติม”

จากเดิมที่เคยเดินไปรักษากันถึงบ้านมาวันนี้ ใครอยากรักษาต้องเป็นฝ่ายมาหาหมอหลีเอง ยาตำรับหมอไข่ที่ยังมีมาถึงปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องเลือด ได้แก่ ยาบำรุงสตรีหลังคลอด เช่น ยาพอกแทนการอยู่ไฟ ยารักษาเลือดเพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวเลือด (อาการหนาวทุกครั้งตอนฝนตกสำหรับสตรีที่ไม่ได้อยู่ไฟหลังคลอด) ยาขับน้ำคาวปลายาขับน้ำนม ยารักษามดลูก หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ เลือดลมเดินไม่ดี หมอหลีก็รักษาให้

นอกจากนี้มียาเด็กรักษาอาการลิ้นขาวปากเปื่อย สำรอก แหวะนม ท้องขึ้น ท้องเสีย ฯลฯ อีกวิถีที่ยังคงแบบโบราณเอาไว้คือสมุนไพรที่ใช้เป็นวัตถุดิบ เช่น ไม้เลื้อย รากไม้ แก่นต่างๆ ที่ยังต้องไปหาตามภูเขา หรือหอย (แคลเซียม) ที่หาได้ตามชายทะเลถามว่าหายากขึ้นหรือไม่ เพราะเมืองเข้ามาบุกรุกป่ามากขึ้น กระนั้นก็ยังพอหาได้ ตราบใดยังมีทะเล มีภูเขา ตัวยาก็ยังมี

โดยคนที่รับบทหาวัตถุดิบนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคู่ชีวิตของเชษฐ์ ที่ควบหน้าที่ทั้งไปหา และขนกลับมายังบ้าน เมื่อวัตถุดิบต่างๆ มาถึงโรงยาแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือคัดเลือกคัดทิ้งสิ่งปลอมปน และสิ่งสกปรกต่างๆ ออกไป เช่น เส้นผม ลวด ด้าย แล้วทำความสะอาด จากนั้นนำมาตากแดด ทำกันเองทุกขั้นตอน เพราะไม่มั่นใจว่า ถ้าไปจ้างคนข้างนอกทำ จะสะอาดเพียงพอหรือไม่

“ขั้นตอนต่อมาคือบด แม่จะเป็นคนทำ เรามีเครื่องบดที่ใช้มานาน บดเสร็จเอาแยกเก็บไว้ตามชนิด จากนั้นก็เอามาแยกใส่ห่อตามสูตรยา ซึ่งพ่อจะเป็นคนทำเอง” เชษฐ์เล่า

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของยาคือ การห่อยาทุกตัวของที่นี่ จะถูกห่อไว้ด้วยกระดาษ แล้วเขียนกำกับสูตรพร้อมคู่มือการกินการใช้ไว้บนห่อด้วยลายมือของหมอหลีเองทุกห่อ เคล็ดลับอีกอย่างของที่นี่คือ ไม่มีการห่อยารอไว้ล่วงหน้า จะเตรียมก็ต่อเมื่อมีคนเข้ามาบอกอาการ ตรวจอาการเบื้องต้น เมื่อนั้นหมอไข่ถึงจะลุกไปตักยามาใส่ห่อให้

สาเหตุที่ผู้เฒ่าวัย 80 ยังต้องมานั่งห่อยา เขียนสรรพคุณพร้อมการใช้ด้วยลายมือตัวเองนั้น นอกจากความเต็มใจส่วนตัวแล้ว ลูกสาวบอกว่า ‘งานรับแขก’ แบบนี้ทำให้พ่อไม่เหงา การได้คุยกับคนโน้นคนนี้ ทำให้แกมีชีวิตชีวาจิตใจดีขึ้น ช่วยยืดอายุได้อีกทาง ส่วนแม่ก็เป็นคนที่มีความสุขกับการได้อยู่หลังร้าน บดยาไป แยกขยะ (ไว้ทอดผ้าป่า) ไป

ทุกๆ วัน บ้านหมอหลีจะมีคนแวะเวียนมาซื้อยาอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นรายได้หลักของครอบครัว ทั้งค่าเรียนลูกหลาน ค่ากินอยู่ภายในบ้าน ก็มาจากยาห่อทั้งนั้น โดยเชษฐ์วางแผนไว้แล้วว่า ถ้าพ่อกับแม่สิ้นบุญไปก็จะเข้ามารับช่วงต่อ เพราะได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้จากพ่อมาหมดแล้ว แต่ถามถึงรุ่นหลานผู้สืบทอดต่อยังว่าง เพราะไปทำงานอื่นกันหมด ไม่ค่อยมีใครสนใจศาสตร์ด้านนี้

“งานพวกนี้ต้องอาศัยความอดทนมาก ละเอียดมาก แก่นยาต้องไปฟันเอาบนเขา หอยก็ต้องไปแบกจากทะเล เหม็นก็เหม็น เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยอดทน เขาไม่สนใจ” เชษฐ์เล่า

เคยมีคนข้างนอกมาขอเรียนวิชาจากหมอหลี แต่ก็ต้องคอตกกลับไป เพราะหมอหลีถือว่า ของแบบนี้มีครูบาอาจารย์ จะถ่ายทอดแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ อย่างเชษฐ์ หมอหลีก็ต้องเป็นคนครอบครูให้

“ถ้าให้วิชาคนอื่นไป เขาจะไปทำแบบเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ ของแบบนี้ ทำไม่ดี มันเข้าตัว เดี๋ยวเป็นโน่นเป็นนี่ ทั้งกับตัวเรา และคนที่เรารักษา”

โดยมีคุณธรรม 3 ข้อ ที่เชษฐ์ หมอหลี และครอบครัวต้องยึดถือตลอดมา คือ 1.เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ 2.จิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ 3.ซื่อสัตย์สุจริต ทุกๆ ปี บ้านหมอหลีต้องมีพิธียกครู เพื่อบูชาครู และกันเงินส่วนหนึ่งมาทำบุญ ซึ่งตลอด 80 ปี ของหมอหลี ได้เป็นเจ้าภาพเทศน์มหาชาติมาถึง 3 งาน แล้ว แถมบางครั้งบางคราว ผู้เฒ่าก็รับหน้าที่วิทยากรให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน เพราะที่นี่ถูกยกให้เป็น ‘แหล่งเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านหมอสมุนไพร’

 

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code