“หมอหทัย” อัดหนัง “อวตาร” แอบแทรกฉากสิงห์อมควัน

หวั่น ทำวัยรุ่นไทยเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่

 

 

              ชี้ใช้ให้ดาราสาว สวย เก่ง แต่ใช้ชีวิตเสเพล ดื่มหนัก สูบจัด อันตรายหากวัยรุ่นหญิงไทยหลงผิดอยากสวย เก่ง ต้องสูบบุหรี่ ผอ.ศจย. จี้ ไทยจัดเรตติ้งดูหนังโรง แก้กฎหมาย เพิ่มบุหรี่ เป็นสารเสพติดให้โทษ สอนเด็กให้รู้เท่าทันสื่อ

 

              เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมสยามซิตี้ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริสุขภาพ(สสส.) จัดงานแถลง สูบบุหรี่ใน อวตารเพื่อใคร โดย นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า กระแสการนำเสนอฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศมีมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่มีกระแสคัดค้านอย่างหนักว่าไม่เหมาะสมก็ตาม ล่าสุดภาพยนตร์เรื่องอวตาร มีการสอดแทรกฉากการสูบบุหรี่ให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง โดยให้ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญเป็นผู้หญิง หน้าตาสวยงาม มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เป็นคนเก่ง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าเก่ง ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นทั้งชายและหญิงที่อาจจเลียนแบบบุคลิกของตัวละครนี้ ส่งผลให้มีวัยรุ่นหันมาเป็นนักสูบบุหรี่หน้าใหม่จำนวนมากได้

 

“หมอหทัย” อัดหนัง “อวตาร” แอบแทรกฉากสิงห์อมควัน

 

               อันตรายมากหากวัยรุ่นไทยมีความเข้าใจผิดๆ ว่า ถ้าอยากเป็นผู้หญิงเก่ง สวย จะต้องสูบบุหรี่เหมือนอย่างตัวละครในอวตาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงไทยที่ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ระบุว่า กลุ่มผู้หญิงมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นจาก 1.6% เพิ่มเป็น 1.7%ในปี 2552 ขณะที่ภาพรวมการสูบบุหรี่ทั้งเพศชายและหญิง มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงจาก 19.5% เหลือ 18.1% ในปี 2552 ดังนั้นประเทศไทยควรมีมาตรการควบคุมการเสนอฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ได้แล้ว นพ.หทัย กล่าว

 

              นพ.หทัย กล่าวต่อว่า มีการวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับอิทธิพลของการนำเสนอฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ ส่งผลกระทบทางลบกระตุ้นให้วัยรุ่นทดลองสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น โดยมีงานศึกษาวิจัยของประเทศเยอรมันนี พบว่าวัยรุ่นที่ได้ชมภาพยนตร์ที่มีฉากสูบบุหรี่มีอัตราการทดลองสูบเพิ่มเป็น 2 เท่าของวัยรุ่นที่ไม่เคยเห็นการสูบบุหรี่ในภาพยนตร์มาก่อน ขณะที่งานวิจัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า 52% ของนักสูบหน้าใหม่มีอายุระหว่าง 12 – 17 ปี หรือประมาณ 390,000 คนต่อปี เริ่มสูบบุหรี่หลังเห็นฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมบุหรี่มีรายได้จากภาพยนตร์ฉายฉากดาราสูบบุหรี่มากถึงปีละ 894 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

              ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และมีการออกกฎกระทรวงขึ้นมาบังคับใช้แล้ว โดยจัดเรตติ้งให้ภาพยนตร์อวตาร เป็นประเภททั่วไป ซึ่งควรจะเป็น น.13+ คือ เหมาะสำหรับเยาวชนอายุ 13 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา กล่าวคือประเภททั่วไป ต้องไม่มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง ทารุณ ลามกอนาจาร และภาพการใช้สารเสพติดให้โทษ

 

“หมอหทัย” อัดหนัง “อวตาร” แอบแทรกฉากสิงห์อมควัน

 

              ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ เยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปีขึ้นไป ยังสามารถดูภาพยนตร์ที่มีฉากการสูบบุหรี่ได้ตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ซึ่งบุหรี่จัดเป็นยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาทกลุ่มเดียวกับ แอมเฟตามีน กระท่อม โคคาอีน(โคเคน) ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก(WHO) ได้กำหนดให้บุหรี่เป็นสารเสพติดเพราะคนที่สูบบุหรี่จะต้องเพิ่มปริมาณหรือจำนวนการเสพมากขึ้นเหมือนกับสารเสพติดชนิดอื่นๆดร.ศิริวรรณ กล่าว

 

              ดร.ศิริวรรณ กล่าวอีกว่า เพื่อให้เยาวชนปลอดภัยจากอันตรายจากการนำเสนอภาพที่ไม่เหมาะสมในภาพยนต์ จึงมีข้อเสนอดังนี้ 1. ผู้ปกครองให้คำแนะนำบุตรหลานในการรับชมสื่อต่างๆ 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการจัดอันดับเรตติ้งต้องควบคุมสื่อต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด 3. ควรมีการแสดงข้อความคำเตือนลงในภาพยนตร์ที่มีฉากที่ไม่เหมาะสม มีอบายมุข สิ่งเพสติด และ 4. เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อ

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

Update 02-02-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : นพรัตน์ นริสรานนท์

Shares:
QR Code :
QR Code