หมอลำหุ่นละครสอนใจเด็ก
การปลูกฝังความคิดที่ว่า ความดี ความจริง หรือเรื่องราวใดๆ สำหรับเด็กๆ นั้น หากใช้วิธีการสอนหรือบอกกล่าวตรงๆ อาจเป็นเรื่องทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากฟัง ไม่อยากรับรู้
ด้วยเหตุนี้ ผู้เฒ่า ผู้แก่ หรือผู้ใหญ่ จึงมักนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อในรูปแบบที่เด็กๆ สนใจ ไม่ว่าจะเป็นเล่าเรื่องผ่านนิทาน ผ่านละคร ผ่านหนังสือ ผ่านกิจกรรมการละเล่นต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ เกิดความเพลิดเพลิน
ขณะเดียวกัน เด็กๆ ก็สามารถที่จะมีส่วนร่วม หรือทำหน้าที่เป็นผู้เล่น ผู้เล่าเรื่องราวเหล่านั้นเสียเองก็ได้ อย่างเช่น กรณีของเยาวชนกลุ่มออมทอง ที่จังหวัดมหาสารคาม โดยผ่านสิ่งที่เรียกว่า หมอลำหุ่น
ปกติหุ่นที่เราพบเห็นกันตัวไปนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เรามักหยิบยกคำเปรียบเทียบขึ้นมาบอกอาการของความนิ่ง ความไร้ชีวิตชีวา มีกิริยาอาการของหุ่น ซึ่งหมายถึงความนิ่ง ไม่ยินดียินร้าย ซึ่งเมื่อเด็กๆ กลายเป็นผู้สร้างและให้ชีวิตแก่หุ่น โดยถ่ายทอดเรื่องราวพื้นบ้านอีสานสู่เพื่อนๆ ต่างวัย โดยมีชุมชนช่วยสนับสนุนและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้งานถ่ายทอดคติธรรมจากภูมิปัญญาโบราณเป็นความจริงขึ้น
เยาวชนภายใต้ชื่อกลุ่ม "ออมทอง" จ.มหาสารคาม และหมอลำหุ่นคณะ "เด็กเทวดา" อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ร่วมกับโรงเรียนบ้านหนองโนใต้ โรงเรียนมัธยมดงยาง และโรงเรียนบ้านโคกเพิ่ม โคกกลาง ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนและชุมชนไปในทางที่ดีขึ้นทุกมิติ โดยใช้ "หุ่น" เป็นสื่อกลางนำเสนอในรูปแบบหมอลำพื้นบ้าน แฝงคติธรรม คิดดี ทำดี และยังส่งเสริมให้พวกเขาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ครูนก หรือ น.ส.ชิตวัน สมรูป ผู้รับผิดชอบโครงการหมอลำหุ่น เล่าว่า ที่ผ่านมาได้มีการนำเด็กและเยาวชนจาก 3 โรงเรียนดังกล่าว มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสืบค้นภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมในชุมชนระหว่างกัน และนำมาร้อยเรียง สังเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลผ่านละครหุ่นหมอลำ เช่น เรื่อง "องคุลิมาล" โดยจะสมมติให้ละครหุ่นสอนเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ แฝงคติธรรมการดำเนินชีวิตให้แก่เด็ก
โดยมีสมาชิกหมอลำหุ่นคณะ "เด็กเทวดา" และศิลปินหมอลำพื้นบ้าน อาทิ พ่อทองจันทร์ ปลายสวน, พ่อหมอแคน นายแพง ดีด่านค้อ และแม่ครูพจรินทร์ ปะรินทร ทำหน้าที่เป็นบุคคลต้นแบบ เล่าเรื่องราวและประวัติความเป็นมาให้กับเยาวชน จากนั้นเยาวชนจะนำเรื่องราวต่างๆ มาปรับเป็นบทเพื่อใช้ในการแสดง โดยภาษาที่ใช้นั้นจะเป็นภาษาถิ่น (ภาษาอีสาน) เป็นการส่งเสริมทั้งกระบวนการ "คิด" กระบวนการ "แสดงออก" และ "การทำงานแบบจิตอาสา" ให้กับเยาวชนไปในตัว
ครูนกเล่าต่อว่า สำหรับละครหุ่นหมอลำเรื่อง "องคุลิมาล" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องการทำความดี ละเว้นความชั่ว "เราหยุด แต่เจ้ายังไม่หยุด" สอนเรื่องการกลับตัวกลับใจ ให้คิดดี ทำดี เรื่องราวทั้งหมดนี้ นอกจากเด็กและเยาวชนจะได้รับประโยชน์แล้ว คนในชุมชนและผู้ที่ได้ชมยังนำข้อคิดต่างๆ ที่แฝงอยู่ในเรื่องนั้นๆ กลับไปคิดและปรับใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
น.ส.วรัญญา รวบรัตน์ หรือน้องหมิว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมัธยมดงยาง บอกว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ตนได้เข้าใจในศิลปะการแสดง "หมอลำหุ่น" ที่แฝงเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับชุมชนผ่านเรื่องเล่าต่างๆ จากคนเฒ่าคนแก่มากขึ้น ทั้งในเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมายังมีข้อคิดเกี่ยวกับยาเสพติดและอบายมุข อย่าง ยาบ้า ยาอี เหล้า เบียร์ บุหรี่ และยาเสพติด ไว้มากมาย ซึ่งตนเชื่อว่านี่จะเป็นแรงบันดาลใจที่ดี และจะทำให้วัยรุ่นอย่างเราเข้าใจและห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
ด้าน น.ส.ธนัชชา นูสีหา หรือน้องตาล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนมัธยมดงยาง บอกเสริมว่า การร่วมกิจกรรมที่ผ่านมานั้น นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับหมอลำพื้นบ้าน และการแสดงเพื่อการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว การสื่อหมอลำหุ่นซึ่งเป็นสื่อศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้เปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติและค่านิยม ในการเสพติดวัตถุนิยมให้กับเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี ทำให้พวกเรากล้าแสดงออก กล้าคิด และกล้าทำมากขึ้นด้วย
แม้วันนี้บางคนที่ยังไม่เข้าใจ จะมองเพียงแค่ว่าหุ่นเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ แต่สำหรับเด็กและเยาวชนทั้งหมดที่นี่มองว่า "หุ่น" เป็นเสมือนทั้งชีวิต เป็นจิตใจ เป็นสังคม เป็นเหมือนครอบครัว ทั้งสอนและสร้างให้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เชื่อว่าอีกไม่นาน นวัตกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ที่จะเป็นสมบัติของชุมชนและเป็นความภาคภูมิใจของชาว อ.นาดูน จ.มหาสารคาม รวมทั้งยังเป็นต้นแบบสำคัญให้ชุมชนอื่นๆ นำไปเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชนของตัวเองได้
หุ่นวันนี้ ไม่ใช่สิ่งไม่มีชีวิตและไร้ค่าอีกต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต