“หมอประเวศ” ยก 7 ยุทธศาสตร์แก้วิกฤตการศึกษาไทย
สร้างสัมพันธ์รอบด้าน
“หมอประเวศ” ยก 7 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน สสค.ชี้การศึกษาไทยเข้าสู่วิกฤติ ขาดวัฒนธรรมทางปัญญา-คิดมิติเดียว แนะศึกษาแบบสร้างสัมพันธ์รอบด้าน สร้างค่านิยมใหม่ ด้านนักวิจัยเผยการศึกษาไทยเน้นระบบอ้วนเด็กผอม ขังเด็กในห้องเรียน ตัดขาดชีวิต-วัฒนธรรมการเรียนรู้ ย้ำยุทธศาสตร์ ‘สสค.’ ต้องเน้นปฏิรูปการศึกษาที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม เพื่อสร้างเด็กเก่งในพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างคุณค่าให้ระบบการศึกษาอาชีวะ ตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจสังคม ขณะที่imd ชี้การศึกษาไทยร่วง 4 อันดับในเอเชีย
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 30 มิถุนายน ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี ถ.ศรีอยุธยา ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวในการประชุม“กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน” เรื่อง “สังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย” ว่า ยุทธศาตร์การขับเคลื่อน สสค.ควรมี 7 ข้อ คือ 1.สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ : รวมกลุ่ม (mapping) คนที่วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเป็นต้นแบบ 2.ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย 3.สร้างโครงสร้างใหม่ของระบบการศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง 4.ทำให้การอ่านเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ 5.ปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษา : การศึกษาต้องตั้งโจทย์คำถามตัวเอง จนทำให้ครูเกิดความเชี่ยวชาญในกระบวนการเรียนรู้ 6.สร้างองค์กรเรียนรู้-องค์กรส่งเสริมการเรียนรู้ และ 7.การสื่อสารกับการปฏิรูปการเรียนรู้
ศ.นพ.ประเวศยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ของการศึกษา คือ การคิดแบบมิติเดียว โดยแยกการศึกษาออกจากการเรียนรู้การใช้ชีวิตจริงในท้องถิ่น ตัดขาดจากวัฒนธรรมทางสังคม โดยยึดติดกับระบบที่ใช้ครู ห้องเรียนเป็นตัวตั้ง เด็กจึงเป็นแต่ผู้รับ ทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียน
“เรามีทรัพยากรในการเรียนรู้อยู่ในชีวิตจริง แต่ขังเด็กให้อยู่ในห้องเรียน ตัดขาดกับการปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการใช้ชีวิต ทำให้เด็กขาดจินตนาการในการพัฒนา การศึกษาไทยจึงถูกมองว่าเป็นการท่องวิชา เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เรามีความสามารถหลายมิติ การศึกษาที่แบ่งแยกวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ออกจากการเรียนรู้ ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง กลายเป็นเด็กไม่เก่ง การศึกษาควรเป็นกระบวนการที่สร้างสัมพันธ์รอบด้านกับครอบครัว สังคมและชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพการเรียนรู้ที่สูงขึ้น ที่สำคัญเวลาปฏิรูปใดใดต้องมองให้เป็นระบบ เพื่อการพัฒนารากฐานสังคมที่มั่นคง ก่อให้เกิดการศึกษาเพื่อชุมชน โดยคนในชุมชน ก็จะทำให้สังคมมั่นคง” ศ.นพ.ประเวศกล่าว และย้ำว่า การเกณฑ์เด็กให้เรียนระดับอุดมศึกษานอกพื้นที่ ทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องของธุรกิจ และการสอบเอ็นทรานซ์กลางเป็นประตูสวรรค์กับนรก ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำงานเป็น อดทน และมีความรับผิดชอบได้ เพราะฉะนั้นควรสร้างค่านิยมใหม่ว่า เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนในระบบอุดมศึกษาเท่านั้นเพื่อจะประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ปรับทัศนคติเกี่ยวกับอาชีวศึกษาว่าเป็นรากฐานที่ตอบโจทย์ให้แก่สังคม แรงงาน หากทำสำเร็จก็จะตอบสนองความต้องการของสังคมเศรษฐกิจได้มาก
นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและที่ปรึกษาอนุกรรมการสสค. กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญเกินกว่าที่จะให้ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งรับผิดชอบ สิ่งสำคัญในการศึกษา คือ ต้องมีการมองตัวเอง ประเมินตัวเอง และปรับปรุงตัวเอง ขอยกพระบรมราโชวาทที่ว่า การศึกษาเป็นการพัฒนาที่เป็นระบบ และมีจุดมุ่งหมาย โดยรับสั่งว่า การพัฒนาต้องอาศัยจิตใจที่ต้องหวงแหนแผ่นดินของเรา และเราต้องช่วยกันเพราะเป็นคนไทยด้วยกัน คำว่ารู้หมายถึงการแยกแยะสิ่งดี สิ่งเลว รักหมายถึงการมีความรักในการปฏิบัติ เมื่อผ่านขั้นตอนการรู้จริงแล้ว ต้องสร้างฉันทะ หรือความรักในการทำงาน
“เรามาประชุมกันเพื่อทำอะไรดีๆให้แก่สังคมไทย เราต้องรู้จริง เราต้องเข้าใจว่า อะไรคือ ความเข้มแข็งของระบบการศึกษาไทย ประเทศไทยเป็นของเรา การศึกษาไทยมีความสำคัญมากต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ตั้งแต่ระดับรากหญ้านั้นก็จะส่งผลในการพัฒนาสังคมไทยต่อไป”
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชด์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องของการปฏิรูปประเทศไทยเป็นประเด็นที่สังคมต้องเข้ามาร่วมมือกัน การปฏิรูปการศึกษาการเรียนก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ หากไม่มีการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยคงลำบาก บทเรียนสำคัญของสสส.สะท้อนชัดว่า ต้องมีการมองเชิงระบบ เชิงความคิด และมีกลไกพิเศษ ที่เข้ามาช่วยให้การศึกษาดำเนินไปได้ สถาบันส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิต (สสค.) ก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการปรับเปลี่ยนตัวระบบการศึกษา โดยบอร์ดสสส.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ให้การสนับสนุนเบื้องต้น โดยมีนพ.ศุภกร บัวสาย เป็นผู้จัดการสสค. ซึ่งต่อไปก็จะต้องหารูปแบบในการดำเนินการต่อไป
ขณะที่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)กล่าวถึงกรณีศึกษา “quality education fund” เขตปกครองพิเศษ (ฮ่องกง) สาธารณรัฐประชาชนจีนกล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยเป็นระบบที่อ้วนเด็กผอม คือ พัฒนาแต่ระบบด้วยการใส่เงินเข้าไป แต่ไม่ตรงจุด ขณะที่ฮ่องกงเน้นการให้ทุนที่ตรงตามความต้องของนักเรียน และตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาสังคม ทำให้ประเทศพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยโครงงานจะเน้นให้เด็กอยากเรียนรู้ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ในสังคม ทั้งนี้การวิจัยพบว่า หากครูเก่ง เด็กก็จะเก่ง เพราะฉะนั้นหากระบบการศึกษาได้สนับสนุนไปถึงตัวครู แล้วก็จะทำให้เกิดการพัฒนา 100% เพราะฉะนั้นจุดสำคัญจึงไม่ได้อยู่กับการสร้าง แต่เป็นการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ
สมรรถนะด้านการศึกษาในภาพรวมปี 2552 international institute for management development (imd) จัดอันดับด้านการศึกษาให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 47 จากทั้งหมด 57 ประเทศทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ลดลงจากปี 2551 สี่อันดับ ด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา พิจารณาจากอัตราการเข้าเรียนและไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 42 ถือว่าลดอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ได้ หลังจากอัตราสูงร้อยละ 7.4 คงที่ติดต่อกันถึง 4 ปี แม้ปี 2550 จะลดลงเหลือร้อยละ 5.9 แต่อันดับยังถือว่าคงที่เมื่อเทียบกับปี 2549 คืออันดับที่ 42 จากทั้งหมด 57 ประเทศ ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันในภาพรวม ปี 2553 ประเทศไทยยังครองอันดับที่ 26 เท่าเดิม จากทั้งหมด 58 ประเทศ โดยเพิ่มจากปีที่แล้วมา 1 ประเทศ คือประเทศไอซ์แลนด์ ที่ได้อันดับที่ 30
การลงทุนทางการศึกษา เมื่อพิจารณาจากร้อยละของงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาในภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(gdp) พบว่า ปี 2550 ประเทศไทยมีการลงทุนทางการศึกษาร้อยละ 4.4 ของgdp อยู่ในอันดับที่ 32 เพิ่มจากปี 2549 ร้อยละ 0.4 ทำให้อันดับดีขึ้น 7 อันดับ แต่เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย พบว่า ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาสูงกว่าหลายๆประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ปละสิงคโปร์ แต่อันดับตัวชีวัดภาพรวมด้านการศึกษาประเทศไทยยังถือว่าด้อยกว่า ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า มาเลเซียลงทุนทางการศึกษามากขึ้นทุกๆปี โดยในปี 2550 ลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.2 ทำให้อันดับกระโดดขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 18 ดีขึ้น 29 อันดับ แซงประเทศไทยเป็นปีแรก
ด้านอัตราส่วนนักเรียนต่อครู ระดับประถมศึกษา 18.3 ต่อ 1 ระดับมัธยมศึกษา 21.7 ต่อ 1 อยู่อันดับที่ 41 และ 52 ตามลำดับ ในขณะที่ผลการประเมินการตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในปี 2552 พบว่า ยังตอบสนองความสามารถในการแข่งขันไม่ได้เท่าที่ควร อยู่อันดับที่ 29 มีคะแนนการประเมิน 5.13 คะแนน จาก 10 คะแนน เป็นรองสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และไต้หวัน ที่มีคะแนน 7.9, 6.1, 6.0 และ 5.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากลยังอยู่ในระดับไม่เป็นที่น่าพอใจและยังล้าหลังหลายๆประเทศ ทั้งด้านโอกาส คุณภาพ และประสิทธิภาพทางการจัดการศึกษา
ที่มา: สถาบันส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
update: 01-07-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ