หมอนวดตาบอด ท้อได้วันละนาที
เพราะชีวิตที่ไม่ปกติเหมือนคนอื่นตั้งแต่เด็ก อันเนื่องมาจากความพิการทางสายตา แต่ด้วยความรักจากครอบครัว โดยเฉพาะผู้เป็นพี่สาวที่พร่ำบอกและสอนเสมอว่า จะต้องทำทุกอย่างให้เป็น ช่วยเหลือตัวเองให้รอด เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ในวันที่ไม่มีใคร จึงเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ “ธนนันท์ คงแก้ว” ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย รพ.สต.บางสาร อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี หรือหมอนวดตาบอด สามารถทำอะไรทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนรอบข้างมาแต่ไหนแต่ไร
และความคิดนี้เองจึงไม่แปลกที่หมอนวดตาบอดคนนี้ จะค้นหาเส้นทางของตัวเองจนประสบความสำเร็จได้ในหน้าที่การงาน แม้รายได้อาจจะไม่สูงนัก แต่จากการประกอบสัมมาชีพก็ช่วยให้เขาได้ใช้ความสามารถที่ร่ำเรียนมา ช่วยรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้แก่ผู้อื่น
“การที่สังคมมองว่าคนตาบอดจำเป็นต้องพึ่งพาคนรอบข้างนั้น มันเป็นเจตทัศนคติเก่าๆ ผมว่าเพื่อนคนพิการหลายคนสามารถทำให้คนตาดีได้เห็นว่าคนพิการก็มีโอกาสก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ ขอเพียงอย่ามองที่ความพิการ แต่ต้องมองที่ความสามารถของเรา เพราะหากมองที่ความพิการก็จะมองไม่เห็นความสามารถ คนพิการไม่ได้อยากได้ความสงสาร แต่เราอยากได้โอกาสมากกว่า โอกาสจะช่วยให้เราอยู่ด้วยกันในสังคมได้”
ธนนันท์ เปิดใจถึงความรู้สึกที่เชื่อว่าคนพิการทุกคนก็รู้สึกเช่นนี้ และสำหรับตัวเขาเองที่เผชิญหน้ากับความพิการมาแต่เด็ก จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้เฉกเช่นคนปกติทั่วไป
หมอนวดตาบอดย้อนอดีตถึงความพิการของตนให้ฟังว่า เป็นโรคต้อกระจกตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ผู้เป็นพ่อไปเที่ยวผู้หญิง แล้วนำเชื้อมาติดสู่แม่ ทำให้ดวงตาที่เคยมองเห็นชัดกลับมืดลงทั้งหมด โดยแสดงอาการออกมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ธนนันท์จึงเข้ารับการผ่าตัดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ก็เหมือนกับโชคร้ายมาเยือน เมื่อภายหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น วันหนึ่งธนนันท์ได้ช่วยคนแก่ที่กำลังลื่นล้ม แต่กลับถูกลากล้มลงไปด้วย สุดท้ายศีรษะจึงกระแทกเข้าที่ขอบเตียง ส่งผลให้การผ่าตัดในครั้งนั้นช่วยให้เขาพอมองเห็นได้แต่เพียงตาข้างขวา ส่วนตาข้างซ้ายเกิดเลือดคั่งขึ้นในตา จนกลายเป็นต้อหิน เส้นประสาทตาย ไม่สามารถมองเห็นได้อีกต่อไป
แต่ถึงแม้จะตาบอดมองไม่เห็นข้างหนึ่ง แต่สายตาอีกข้างยังพอช่วยให้พอมองเห็นได้บ้าง แม้จะเลือนรางก็ตาม ซึ่งพี่สาวของเขาก็สอนให้รู้จักการช่วยเหลือในชีวิตประจำวันของตนเอง ไปจนถึงการทำอาหาร ธนนันท์ เล่าว่า ไม่แปลกที่เมื่อมาทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทยที่ รพ.สต.บางสาร แล้ว เพื่อนร่วมงานจะแปลกใจว่าทำไมเขาจึงสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงสามารถทำอาหารกินเองได้ด้วย
“ก่อนที่จะมาทำงานที่นี่ ผมก็ทำอาชีพนวดเพื่อสุขภาพมาก่อนตั้งแต่ปี 2539 ก็เรียนและอบรมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รับใบมาตรฐานฝีมือแรงงานเมื่อปี 2547 จากนั้นจึงร่วมกับองค์กรคนพิการผลักดันเรียกร้องเรื่องใบประกอบโรคศิลปะสำหรับคนพิการ เพราะก่อนหน้านั้นกฎหมายยังจำกัดเรื่องบุคคลทุพพลภาพอยู่ จนสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ จึงมีโอกาสได้เข้าโครงการพัฒนาผู้พิการให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทนวดไทย เมื่อปี 2553 จนได้รับใบประกาศ แต่เบื่ออาชีพใน กทม.จึงกลับมาทำงานที่บ้านเกิดที่นี่”
ธนนันท์ เล่าอีกว่า เมื่อมาทำงานที่นี่ก็ต้องทำงานเหมือนคนสายตาปกติทุกอย่าง เพราะเราสามารถทำได้ ยกเว้นบางเรื่องจริงๆ เช่น การกรอกเอกสาร หรือทำงานเอกสารต่างๆ ก็จะได้รับการยกเว้น ส่วนการทำงานนวดรักษาชาวบ้านนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมก็จะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดแขน ก็ดำเนินการรักษาเรื่อยมา แต่ด้วยความที่อาการปวดเหล่านี้ไม่ได้รักษาหายด้วยการนวดเพียงครั้งเดียว มันมีความเรื้อรัง ก็ต้องอธิบายให้คนป่วยเข้าใจ ซึ่งกว่าจะได้รับการยอมรับในฝีมือก็ประมาณ 1 เดือน แต่ก็ไม่ท้อ โดยธนนันท์อาศัยการเอาใจใส่ในการนวด คนมานวดแล้วหายก็ไปบอกต่อแบบปากต่อปาก จนสุดท้ายคนในพื้นที่ก็ยอมรับในการนวดรักษา
“ที่ผมไม่ท้อ เพราะผมคิดว่า การที่เรายืนที่สูงแล้วมองลงมาที่ต่ำ หรือคนที่ด้อยกว่าเราจะช่วยให้เรามีกำลังใจ ดีกว่ามองขึ้นไปที่สูงจะเห็นคนดีกว่าเราก็จะไม่มีกำลังใจ ผมอยากให้คนไทยทุกคนคิดว่าเราต้องเป็นกำลังใจให้กับตัวเอง เรามีโอกาสท้อได้แค่วันละนาที ถ้าท้อมากกว่านี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเราจะไม่มีโอกาส ไม่สามารถมองเห็นปัญหาอะไรได้เลย เราต้องมองอย่างที่ผมว่า ต้องมองจากที่สูงลงจากที่ต่ำแล้วเราจะเห็นอะไรมากมาย”
ธนนันท์ ทิ้งท้ายว่า ถ้ามองปัญหาเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ก็จะแก้ทุกอย่างได้ ซึ่งกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะไม่ได้รับจากคนอื่น แต่กำลังใจจากตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์