หมวกกันน็อค 1 ใบ มีค่าต่อชีวิต

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องสวม

 

          การรณรงค์ลดอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในโลกก็ให้ความสำคัญและใส่ใจ โดยเฉพาะเรื่องของอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราค่อนข้างมาก แล้วเพราะอะไร คนถึงไม่สวมหมวกกันน็อคเวลาขับขี่

 

หมวกกันน็อค 1 ใบ มีค่าต่อชีวิต

         

          จากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีการสวมหมวกกันน็อคเพียงร้อยละ 19  ส่วนคนซ้อนท้ายมีเพียงร้อยละ 4.7 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก   สำหรับข้อมูลการสวมหมวกนิรภัยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 3 – 14 ปี พบว่า จากการสำรวจของโครงการรักและห่วงใยใส่หมวกนิรภัยให้น้อง ของกรมควบคุมโรค  ใน 15 จังหวัดที่มีอยู่ในทุกภาคของประเทศ เมื่อปี 2550  มีเด็กที่สวมหมวกนิรภัย เฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

 

          นอกจากนี้ยังพบอีกว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อพฤติกรรมการไม่สวมหมวกนิรภัยของคนไทย คือ ความรู้ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของหมวกนิรภัย ทัศนคติที่ไม่ดีต่อการใช้หมวกนิรภัยและต่อกฎหมาย ราคาแพง อึดอัด หนักศีรษะ ผมเสียทรง ขี่ไม่สะดวก ค่านิยมว่าการสวมหมวกนิรภัย ไม่เท่ เชย ตำรวจไม่จับกุมไม่มีการลงโทษ ขาดการรณรงค์  ประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง ฯลฯ

 

          นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่มักจะพูดถึง แล้วเรื่องการบังคับใช้กฎหมายหล่ะ จากการเปิดเผยของ พ.ต.อ.พงษ์สันต์ คงตรีแก้ว อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ บอกว่า ผู้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อคในขณะขับขี่ จะมีความผิดโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยการปรับขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ที่ผ่านมาเรื่องการรณรงค์เรื่องการสวมหมวกกันน็อคนั้น ปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่เริ่มรณรงค์แล้ว อย่างในจังหวัดภูเก็ต เป็นอีกจังหวัดหนึ่งทื่ถือได้ว่าผู้ขับขี่สวมหมวกกันน็อคทั้ง 100% ขณะที่ผู้ซ้อนท้ายสวมหมวกกันน็อคประมาณ 80% เพราะประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนตระหนักว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือผู้ซ้อนท้ายก็มีความเสี่ยงในการเกิดเหตุเท่ากัน ดังนั้นการสวมหมวกกันน็อคจึงถือเป็นการป้องกันอีกวิธีที่ดีที่สุด

 

          และเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคเอกชน ร่วมเปิดโครงการรณรงค์ปลุกกระแสสังคมไทยใส่ใจหมวกกันน็อค รักวัวให้ผูก รักลูกให้สวมหมวกกันน็อคพร้อมทำพิธีมอบหมวกกันน็อคให้กับผู้แทนเยาวชนและประชาชน โดย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนน พบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 1.3 ล้านคน  หรือทุกนาทีจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 25 คน  และทำให้มีผู้พิการถึงปีละ 50 ล้านคน สำหรับประเทศไทย สถานการณ์อุบัติเหตุยังน่าเป็นห่วง โดยในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 10,171 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่  โดยอัตราของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ  60-70% เป็นกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และไม่สวมหมวกนิรภัย

 

          ปัญหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห่วงใยคือกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด และมีอายุระหว่าง 15-25 ปี ถึง 80% การที่จัดโครงการดังกล่าว จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะเป็นการร่วมสร้างความตระหนักความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัย สอดคล้องกับปี 2554-2563 ที่ประเทศไทยจะประกาศให้เป็นปีทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะตามมาตรการ 3 ม. 2 ข. 1 ร. 1.ย อย่างไรก็ตามเบื้องต้นหากพบเห็นเด็กที่เป็นผู้ซ้อนท้าย ระยะนี้อาจจะยังไม่ปรับ แต่คงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกก่อน

 

          ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2550 เรื่องการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พบว่า ไทยติดอันดับประเทศที่มีการเสียชีวิตสูงสุดลำดับที่ 106 จากการสำรวจ 178 ประเทศทั่วโลก มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 19.6 คนต่อแสนประชากร และถือว่าสอบตกเรื่องมาตรการการใช้หมวกนิรภัย คะแนนเต็ม 10 คะแนน ไทยได้เพียง 4 คะแนน ในปี 2552 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่าหมื่นคน เฉลี่ยวันละ 30 คน สาเหตุหลักมาจากการขับขี่จักรยานยนต์และไม่สวมหมวกนิรภัย 

         

          ดร.สุปรีดา กล่าวด้วยว่า สสส. ร่วมกับ มูลนิธิไทยโรดส์ สำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ระหว่างเดือน มี.ค.-ก.ค. 2553 กลุ่มตัวอย่าง 76,124 คน พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ สวมหมวกนิรภัย 62% ผู้ซ้อนท้าย สวมหมวกนิรภัย 39% ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ 56% ไม่ทราบว่าการนั่งซ้อนท้ายและไม่สวมหมวกนิรภัย มีโทษปรับทั้งคนขี่และคนซ้อน สำหรับ การรณรงค์รักวัวให้ผูก รักลูกให้สวมหมวกกันน็อคถือเป็นกิจกรรมดีที่จะเตือนให้ผู้ปกครองรู้ถึงอันตรายการไม่สวมหมวกนิรภัย โดยในปี พ.ศ.2554-2563 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนโดยจะมีเป้าหมายลดการตายจากอุบัติเหตุให้ได้ครึ่งหนึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า

         

          นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ในฐานะประธานชมรมคนห่วงหัว บอกว่า ลักษณะการบาดเจ็บของผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ จะได้รับบาดเจ็บที่แขน ขามากที่สุด รองลงมา คือ ศีรษะและคอ ซึ่งในรายที่พิการและเสียชีวิต จะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและคอมากที่สุด ดังนั้นการลงทุนเรื่องความปลอดภัยให้กับบุตรหลานเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ใหญ่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเด็ก เพราะจะให้เด็กเป็นผู้หาซื้อมาใส่เองคงเป็นไปไม่ได้ และหมวกกันน็อคก็มีราคาเพียงใบละประมาณ 200 บาท ซึ่งถือว่าราคาถูกมากกับการดูแลรักษาชีวิตของเด็ก ทั้งนี้ปัจจุบันมาตรฐานของหมวกกันน็อคก็ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) วางจำหน่ายทั่วไป โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า อุปกรณ์ความปลอดภัยไม่ควรมีการเก็บภาษี เพื่อให้ราคาถูกลง และปริมาณการใช้ก็จะเพิ่มขึ้นเอง อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเราควรให้ความสำคัญกับการเริ่มใส่หมวกกันน็อคในขณะขับขี่ก่อน เพื่อความปลอดภัย

 

          สิทธิของเด็กในเรื่องความปลอดภัยกำลังถูกละเลย ในหลายด้านพ่อแม่ทำได้ดี อย่างเรื่องวัคซีนพ่อแม่พาไปฉีดอย่างดี แต่วันนึงหากรถมอเตอร์ไซค์ล้ม วัคซีนก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย แต่หากมีหมวกกันน็อคใบนึงประมาณ 200 บาท ช่วยได้ก็เปรียบเหมือนวัคซีนในการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย ดังนั้นอย่าลืมว่าเด็กยังช่วยตัวเองไม่ได้ เด็กต้องได้รับการคุ้มครองจากผู้ใหญ่ นพ.แท้จริงกล่าว

 

          ด้านเด็กๆ ที่ถือเป็นผู้ซ้อนท้ายพ่อแม่ผู้ปกครองไปโรงเรียนเอง อย่าง ด.ญ.อารีรัตน์ อุตมะกูล ชั้น ป.6 โรงเรียนวัดปทุมวนารามในพระราชูปถัมภ์ฯ หนึ่งในน้องที่เข้าร่วมโครงการ บอกว่า ปกติทุกวันการไป-กลับโรงเรียน ก็จะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของคุณพ่อเป็นประจำ แต่ไม่ได้สวมหมวกกันน็อค เพราะเคยไปหาซื้อแล้ว แต่ไม่มีขนาดของหมวกที่เหมาะกับศีรษะ ที่ผ่านมาก็รู้สึกกลัวกับการไม่สวมหมวกกันน็อค แต่หลังจากนี้เมื่อได้หมวกกันน็อคกลับไปแล้ว ก็จะสวมใส่หมวกทุกครั้งที่ซ้อนท้ายและจะเตือนพ่อแม่เวลาขับขี่รถด้วย

 

          เห็นทั้งสถิติ ทั้งความจำเป็นและความสำคัญมากขนาดนี้ ดังนั้นเพียงหมวก 1 ใบจะใส่หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวคุณแล้วว่าจะเลือกลดความเสี่ยงให้กับตัวเองหรือจะปล่อยไปเหมือนที่ผ่านมา

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Update : 30-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code