‘หมวกกันน็อค’ เพื่อนแท้ร่วมทาง
การใช้ยานยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก และจำนวนของรถจักรยานยนต์ที่วิ่งสัญจรกันอยู่บนท้องถนนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวด เร็วเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำ ครอบคลุมไปจนถึงระดับรายได้ปานกลาง ดังนั้นสิ่งที่หลายประเทศต้องเผชิญร่วมกันก็คือ อัตราการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นหลัก
และแม้ว่ารถจักรยานยนต์ จะเป็นพาหนะที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ายานพาหนะประเภทอื่นๆ อยู่มาก แต่ก็ยังครองความเป็นพาหนะยอดนิยมสูงสุดของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2547-2549 ยอดขายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคันต่อปี และในปี 2552 ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนสะสมรวมทั้งสิ้น 16-17 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของรถจดทะเบียนสะสมทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนการถือครองรถจักรยานยนต์ต่อประชากร 4 คนต่อคัน
ภัยเงียบ : เสียชีวิตชั่วโมงละ 1 คน
ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 10,717 คนหรือเฉลี่ยวันละ 30 คน โดยร้อยละ 70 – 80 เกิดจากขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เฉลี่ยผู้เสียชีวิตจากการขับขี่และซ้อนท้ายจักรยานยนต์อยู่ที่ประมาณวันละ 24 คน หรือในแต่ละชั่วโมง มีผู้เสียชีวิต 1 คน ขณะที่ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่าปีละ 1 แสนคน โดยร้อยละ 6 ของผู้บาดเจ็บกลายเป็นผู้พิการ เฉลี่ยในทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 1 คน
ผลจากการศึกษาวิจัย การทดลองทั้งในและต่างประเทศ ยืนยันชัดเจนว่า หากเกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ลดการบาดเจ็บที่ศีรษะ ความพิกลพิการของร่างกาย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตลอดจนลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ คือการสวม“หมวกกันน็อค”
แต่การศึกษาและสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อคของผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยพบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ ‘ต่ำ’ หรือมีคะแนนอยู่ที่ระดับ 4 จาก 10 คะแนนเท่านั้น จากข้อมูลของมูลนิธิไทยโรดส์ ล่าสุด พบว่ามีผู้ใส่หมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ร้อยละ 60 ผู้ซ้อนท้ายสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 30 ขณะที่ข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล เป็นผู้ขับขี่ที่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 14 และผู้ซ้อนท้ายที่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 4.7 โดยครึ่งหนึ่งของการบาดเจ็บรุนแรง เป็นการบาดเจ็บที่ศีรษะ
ทำไมคนไทยไม่สวมหมวกกันน็อค
จากการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่าย Road Safety Watch โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์จำนวน 76,124 คน ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างเดือน มีนาคม – กรกฎาคม 2553 พบว่า สาเหตุที่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยไม่นิยมสวมหมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อค เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ 1.มองว่าเป็นการเดินทางระยะทางใกล้ ไม่ได้นั่งรถออกถนนใหญ่ 2.เร่งรีบ 3.ร้อนอึดอัด ใส่แล้วไม่สบาย สกปรก 4.กลัวผมเสียทรง 5.ไม่มีที่เก็บ พกพาลำบาก กลัวหาย 6.ตำรวจไม่จับ 7.ไม่มีหมวกนิรภัย 8.คิดว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย 9.บุคคลที่มาด้วยกันก็ไม่ได้ใส่
หมวกกันน็อคช่วยได้อย่างไร
แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การตายและการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งการบาดเจ็บที่ศีรษะนั้น แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทเช่นกัน คือ ประเภทเปิด และประเภทปิด
การบาดเจ็บที่ศีรษะประเภทเปิด คือ มีการร้าวหรือการเจาะของกะโหลกศีรษะตัวอย่าง ได้แก่ การร้าวของกะโหลกเปิดชนิดต่างๆ การบาดเจ็บที่เจาะลึกถึงกะโหลก
การบาดเจ็บที่ศีรษะประเภทปิด คือ บาดแผลไม่เจาะกะโหลกศีรษะ แต่จะเกิดจากแรงกระแทกที่ทำให้สมองสั่นในกะโหลก ตัวอย่างได้แก่ การกระแทกกระเทือนอย่างแรง (การบาดเจ็บประเภทที่ไม่มีเลือดออก และอาจมีหรือไม่มีการหมดสติ) สมองฟกช้ำ (มีความเสียหายต่อระบบประสาทหรือระบบเส้นเลือด) การตกเลือดในกะโหลกศีรษะ หรือในบริเวณต่างๆ ของสมอง การบาดเจ็บที่แกนประสาทแบบแพร่ (แกนประสาทบาดเจ็บจนอาจทำให้เสียหายในระยะยาว)
ทั้งนี้ สมองของมนุษย์นั้นสามารถถูกทำลายได้โดยการกระทบกระแทก หรือเกิดจากการหมุนของศีรษะอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดแรงกระชากต่อเส้นเลือดและเส้นประสาท และเส้นเลือดรวมถึงเส้นประสาทภายในเหล่านี้ก็จะดึงกระชากส่วนของสมองโดยรอบออกไปในทิศต่างๆ ด้วย ทำให้สมองเกิดความตึงเครียดหรือสูญเสียรูปร่างไปได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการออกแบบหมวกนิรภัยเพื่อให้สามารถจัดการกับพลังงานที่เกิดขึ้นจากการชน โดยภายในจะมีโฟม ซึ่งมีคุณสมบัติยืดหดได้ เมื่อเกิดการชนและกระแทกจากของแข็ง โฟม ที่อยู่ภายในหมวกนิรภัยจะถูกอัดกระแทก ยืดเวลาที่ศีรษะใช้ก่อนหยุดเคลื่อนไหวออกไปประมาณ 6 มิลลิวินาที มีผลในการควบคุมพลังงานจากการชน หมวกนิรภัยยังจะกระจายแรงการกระแทกไปยังพื้นที่ที่กว้างขึ้น ทำให้แรงกระแทกไม่ไปรวมอยู่ ณ พื้นที่เล็กๆ ส่วนใดส่วนหนึ่งของกะโหลกเท่านั้น ทำให้แรงกระแทกต่อเนื้อสมองลดลง แรงหมุนและความตึงเครียดภายในก็จะลดลงด้วย
นอกจากนี้ยังป้องกันการสัมผัสโดยตรงระหว่างกะโหลกกับสิ่งที่มากระทบ โดยทำหน้าที่เป็นกลไกป้องกันศีรษะจากวัตถุที่มาชน
ซึ่งผลการสำรวจข้อมูลในประเทศไทยพบว่า การสวมหมวกหมวกนิรภัย สามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บและตาย โดยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการบาดเจ็บลงได้ ประมาณ 72% ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ถึง 39% อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความเร็วของรถจักรยานยนต์ในขณะขับขี่ด้วย นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ที่สวมหมวกนิรภัย มีอัตราการตายน้อยกว่าผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกถึง 38% และผู้โดยสารที่สวมหมวกนิรภัย มีอัตราการตายน้อยกว่าผู้โดยสารที่ไม่สวมหมวกถึง 58%
ที่มา:ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)