หมวกกันน็อกเด็กปกป้องชีวิตลูกน้อย
มอเตอร์ไซค์ถือเป็นยานพาหนะที่มักเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดติดอันดับ 1 แต่เพราะความสะดวกสบาย เหมาะกับการจราจรโดยเฉพาะในเมืองหลวงที่มีปัญหารถติดมาก จึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะหลัก พร้อมสวมหมวกกันน็อกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุแต่เด็กๆ กลับถูกละเลยการใส่เครื่องนิรภัยนี้ ทำให้ตลอดปี 2556 มีเด็กอายุ 3-18 ปี สวมหมวกกันน็อกซ้อนมอเตอร์ไซค์เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมาก
นายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ประธานคณะกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลเรื่องประกันภัยมอเตอร์ไซค์ 3 พลัส กล่าวว่า ปัจจุบันมีการสำรวจพบยอดผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ทั่วประเทศกว่า 26 ล้านคัน โดยพบปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากการใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะถึงร้อยละ 80 ส่วนลักษณะการบาดเจ็บ พบว่า แขนขา เป็นอวัยวะที่มีการบาดเจ็บมากที่สุด แต่ในรายที่พิการและเสียชีวิต พบว่า มีการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะและคอ ซึ่งมีการสำรวจว่าในปัจจุบันว่ามีเด็กสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 7 ส่งผลให้มีตัวเลขเด็กได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำถึงปีละ 1 แสนรายและกว่าครึ่งรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิต เนื่องจากไม่ได้สวมหมวกกันน็อก ผู้ปกครองมักอ้างว่าขับขี่ไปใกล้ๆ แค่ซื้อของหน้าปากซอย ไม่น่าเป็นอะไร แต่จริงๆ แล้ว อุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้
“ปัจจุบันผู้ปกครองที่ฝ่าฝืนไม่ให้เด็กสวมหมวกกันน็อกถือว่าทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 26 (2) โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายจุลพยัพ กล่าว
น.พ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า หมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานเหมาะสำหรับเด็ก มีให้เลือกหลายขนาด แต่แบบหลักๆ มีทั้งหมด 3 แบบ คือ ชนิดปิดเต็มหน้า รูปทรงกลมปิดด้านข้าง ด้านหลัง ขากรรไกร และคาง ชนิดเต็มใบ รูปทรงกลมปิดด้านข้าง เสมอแนวขากรรไกรและต้นคอด้านหลัง ด้านหน้าเปิดเหนือคิ้วลงมาตลอดปลายคาง และ ชนิดครึ่งใบ รูปทรงครึ่งวงกลม ปิดด้านข้างและด้านหน้าเสมอระดับหู โดยควรเลือกขนาดหมวกให้เหมาะกับศีรษะของผู้สวมใส่ หรือ เด็ก เมื่อลองสวมให้คาดสายรัดคางให้แน่น จากนั้นลองผลักหมวกไปด้านหน้า ด้านหลัง ถ้าขอบหมวกเคลื่อนขึ้นไปถึงกลางศีรษะหรือมากกว่านั้น แสดงว่าไม่พอดี และควรใช้สีสดหรือสีสะท้อนแสง เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นมองเห็นได้ชัดเจน ควรเปลี่ยนใหม่ทุก 3-5 ปี เนื่องจากการเสื่อมอายุการใช้งาน แต่ถ้าหมวกที่เพิ่งได้รับการกระแทกมาให้เปลี่ยนใหม่ทันที และที่สำคัญควรเลือกที่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.ด้วย
ที่มา : เว็บไซด์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก