หน้าฝนเด็กป่วย“มือเท้าปาก”เพิ่ม
ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมควบคุมโรค” เตือนเด็กอายุ 1-3 ปี ป่วยด้วยโรคมือเท้าปากเพิ่มขึ้น หลังเข้าหน้าฝนพบเด็กป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า พร้อมแนะให้ผู้ปกครอง ครูหมั่นสังเกตอาการเด็ก หากเริ่มมีอาการไข้พร้อมตุ่มน้ำใสที่มือเท้าปากหรือก้น ให้หยุดเรียน และรีบพบแพทย์ทันที อีกทั้งควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ พร้อมกับหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยมือเท้าปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
วันนี้ (3 สิงหาคม 2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝน ทำให้อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นนี้เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โรคที่สำคัญที่ต้องระมัดระว่างเป็นพิเศษในฤดูนี้ คือ โรคมือเท้าปากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 กรกฎาคม 2560 มีผู้ป่วย 44,098 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย พบมากในเด็กอายุ 1-3 ปี คิดเป็นร้อยละ 68 ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงหน้าฝนปีนี้ (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) พบผู้ป่วยประมาณเดือนละ 1 หมื่นราย ซึ่งมากขึ้น จากก่อนหน้านี้เดิมพบเพียงเดือนละ 3-5 พันราย (เพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เท่า)
โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด โดยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ ของเล่น หรือของใช้ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพอง อุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จามรดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เอง ใน 7-10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า การป้องกันโรคมือเท้าปากนั้นสามารถทำได้ง่าย โดยผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือ หรือเท้าก็ได้ ในบางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ และสำหรับสถานศึกษาควรมีการคัดกรองเด็กนักเรียนทุกคน ทุกเช้าก่อนเข้าเรียน สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ และจัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ
ทั้งนี้ หากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ และให้ความรู้ และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อการป้องกันโรคอย่างถูกวิธี หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422