หนูๆ อุ่นใจ ไป-กลับ รถโรงเรียนปลอดภัย

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก คู่มือรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย และ VOICETV


ภาพโดย นัฐพร  ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


หนูๆ อุ่นใจ ไป-กลับ รถโรงเรียนปลอดภัย thaihealth


ฤดูกาลเปิดเทอมของเหล่าบรรดานักเรียนได้เวียนมาบรรจบอีกครา  ในขณะส่งลูกขึ้นรถรับส่งนักเรียนในทุกเช้า แววตาเปื้อนยิ้มของผู้เป็นพ่อแม่ เต็มไปด้วยความหวังในตัวลูกน้อยต่าง ๆ นานา  และนอกจากความหวังนั้น ยังแฝงความกังวลและความกลัวไม่น้อยเช่นกันว่ารถคันดังกล่าวจะพาลูกน้อยไปถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัยหรือไม่ ลำพังหากตนต้องฝ่ารถติดไปส่งลูกที่โรงเรียนแล้วย้อนกลับมาที่ออฟฟิศใจกลางเมือง คงต้องเข้างานสายเป็นแน่  และตัวเลือกอย่างรถรับส่งนักเรียน คงเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้


หากลองเข้าเว็บไซต์ google แล้วค้นหาคำว่า “อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน”  เราจะพบข่าวที่น่าสลดและข่าวด้านลบเป็นส่วนใหญ่ เช่น สลด! รถรับส่งนักเรียนตากใบนราธิวาสพลิกคว่ำ ดับ9 เจ็บ 3,  รถตู้รับส่ง นร.ที่พิจิตร ชนกระบะหวิดไฟคลอกทั้งคัน เจ็บนับสิบราย และ อุบัติเหตุรถตู้รับส่งนักเรียน ประสานงารถกระบะ เป็นต้น โดยข้อมูลจากนักวิชาการแผนงานรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุ จากการนำเสนอของสื่อมวลชน พบว่าตลอดปี 2560 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 30 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 7 คน ได้รับบาดเจ็บ 368 ราย สาเหตุมาจากสภาพรถไม่พร้อมใช้งานและผู้ขับไม่มีความพร้อม ซึ่งรถที่นำมาใช้รับส่ง พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งกำหนด มากกว่าร้อยละ 90


จากสถิติดังกล่าว เป็นสัญญาณเตือนว่า เราไม่ควรมองข้ามเรื่องเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ เพียงเพราะเหตุผลที่ว่า สะดวกและรวดเร็ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเล็งเห็นความสำคัญและรณรงค์ให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้บริการรถรับส่งนักเรียน ประกอบกับให้ทุกคนตื่นตัวและใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท นำมาซึ่งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน


ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ประกอบ ด้วย 3 ประการ คือ  อันตรายจากคนขับรถ อันตรายจากสภาพรถ และอันตรายจากสภาพถนน แต่ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุ แน่นอนว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน สิ่งที่เราทำได้นั่นคือ ไม่ประมาทและป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิด วันนี้ทางทีมเว็บไซต์ มีข้อมูลเรื่องการเลือกรถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัยมาฝากกันค่ะ


หนูๆ อุ่นใจ ไป-กลับ รถโรงเรียนปลอดภัย thaihealth


เลือกรถรับส่งนักเรียนอย่างไรให้ปลอดภัย


1.เลือกรถรับส่งนักเรียนที่ถูกกฎหมาย


ปัจจุบันกรมขนส่งทางบก  อนุญาตให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2 (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือรถตู้โดยสาร) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ ดังนี้


1.กรณีเป็นรถตู้โดยสาร ต้องเป็นรถที่มีป้ายทะเบียนสีขาว ตัวหนังสือและตัวเลขสีฟ้า  จัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น


2.กรณีเป็นรถกระบะที่มีลักษณะเป็นที่นั่งสองแถว ต้องเป็นรถที่มีป้ายทะเบียนสีขาว ตัวหนังสือและตัวเลขสีฟ้า หากมีทางขึ้นลงอยู่ด้านท้ายรถ ต้องปรับปรุงตัวรถให้ประตูและที่กั้นกันนักเรียนตกจากตัวรถ  โดยที่นั่งท้ายรถไม่ควรต่อเติมยื่นเกินขอบท้ายรถ เพราะอาจจะทำให้เด็กตกจากตัวรถได้


2.รถรับส่งนักเรียนที่มาวิ่งรับส่งนักเรียน ต้องปฏิบัติดังนี้


1.ผ่านการรับรองจากโรงเรียน  โดยต้องได้รับหลักฐานการรับรองจากโรงเรียน  เพื่อนำหลักฐานการรับรองไปยื่นพร้อมเอกสารอื่นๆ ต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่  เพื่อตรวจสภาพรถ และขอจดทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียน ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ใช้ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น


2.ติดแผ่นป้ายสีส้มสะท้อนแสง  ตัวหนังสือสีดำ  คำว่า “รถโรงเรียน”  ความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ติดอยู่ด้านหน้า และท้ายของตัวรถให้สามารถมองเห็นข้อความได้อย่างชัดเจน


3.ติดไฟสัญญาณสีเหลืองอำพัน เปิดปิดเป็นระยะ (กระพริบ) ติดไว้ที่ด้านหน้าและท้ายรถ ในขณะที่ใช้รับส่งนักเรียน


4.ติดฟิล์มกรองแสงแบบโปร่งใส หรือชนิดใส ที่วัดปริมาณแสงผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เพื่อให้เห็นสภาพภายในรถได้ตลอดคัน


5.คนขับรถส่งนักเรียนต้องได้รับอนุญาตส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ  หรือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และไม่เคยมีประวัติเสียหายจากการขับรถมาก่อน


6.จัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น ติดตั้งเก็บไว้ในที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุ หรือมีเหตุฉุกเฉินขึ้น  รวมทั้งสามารถนำมาใช้งานได้โดยสะดวก พร้อมใช้งานได้ทุกขณะ


7.ภายในรถรับส่งนักเรียน ต้องไม่มีส่วนแหลมคม ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง


8.จัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน  ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์  ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน


3.ระวัง รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย


1.ไม่เลือกใช้รถรับส่งนักเรียนที่ดัดแปลงสภาพ หรือกลุ่มรถกระบะต่อเติมหลังคา  ซึ่งเป็นกลุ่มรถที่ไม่ผ่านการรับรองของโรงเรียน  และไม่ผ่านการตรวจสภาพรถจากกรมการขนส่งทางบก


2.ไม่เลือกใช้รถรับส่งนักเรียนที่บรรทุกนักเรียนเกินกว่าจำนวนที่นั่งบนรถ  เพราะการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งบนรถ  อาจจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของนักเรียนทุกคนบนรถรับส่งนักเรียนได้


3.ไม่ทนนั่งรถรับส่งนักเรียนอันตราย  นักเรียนควรสังเกตพฤติกรรมและอากัปกริยาของคนขับรถรับส่งนักเรียนตลอดเวลา  เช่น มีอาการง่วงซึม  มึนเมาจากสุราหรือสารเสพติด  ขับรถเร็ว เสี่ยงอันตราย   หากพบเห็นต้องไม่อายที่จะแจ้งเตือนคนบนรถทันที หรือรีบแจ้งสายด่วน 1584  หรือ 191 หรือเบอร์โทรศัพท์ของอาจารย์ หรือโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนบนรถรับส่งนักเรียนทุกคน


หนูๆ อุ่นใจ ไป-กลับ รถโรงเรียนปลอดภัย thaihealth


นอกจากพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเลือกรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยให้ลูกแล้ว ตัวนักเรียนเองก็เช่นเดียวกัน ต้องดูพฤติกรรมคนขับด้วยว่ามีความเสี่ยงที่จะนำไปเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ สิ่งสำคัญหากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ตัวนักเรียนเอง ต้องมีสติ และสำรวจร่างกาย พร้อมทั้งรีบโทร.แจ้ง 191 เพื่อขอความช่วยเหลือทันที  


ความปลอดภัยในชีวิต นับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่หลายฝ่ายรณรงค์และกระตุ้นให้ตื่นตัว การเลือกรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยก็เช่นเดียวกัน หากใส่ใจรายละเอียดของรถรับส่งสักนิด ก็เท่ากับเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กๆ หลายๆ คน  และหากเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ ปฏิบัติตามหลักการข้างต้น เชื่อแน่ว่า สถิติความสูญเสียในปีต่อไป ต้องลดน้อยลงเป็นแน่

Shares:
QR Code :
QR Code