หนูจ๋า! พุงลาก่อน กับ ภารกิจลดพุงลดโรค
สสส. ชวนคุณพ่อคุณแม่ จูงมือลูกมาร่วม "ยุทธการลดหวาน มัน เค็ม และภารกิจพิชิตพุง"
เวลาเห็นเด็กๆ แก้มยุ้ย ตัวกลม ผู้ใหญ่ก็เอ็นดู แหม…น่ารักน่าหยิก ชวนมันเขี้ยว พ่อแม่ลุงป้าน้าอาเห็นลูกหลานกินเก่ง ก็ชอบใจ "กินเยอะๆ เลยลูก"เป็นคำที่ผู้ใหญ่มักพูดกับเด็กวัยเจริญเติบโต กินเยอะๆ จะได้โตไวๆ
แต่เดี๋ยวก่อน! การสนับสนุนให้เด็กๆ กินตามใจชอบ อาจสร้างทัศนคติในการเลือกกินอาหารที่ผิดพลาด ไม่อ้วนวันนี้ ก็จะอ้วนในวันหน้า คนอ้วนไม่ผิด แต่โรคอ้วนนำมาซึ่งโรคอื่นๆ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง เริ่มปลูกฝังการกินอยู่อย่างถูกวิธีให้เด็กตั้งแต่วันนี้ จะส่งผลดีในระยะยาว
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนคุณพ่อคุณแม่จูงมือลูกเข้าร่วมกิจกรรม "ยุทธการลดหวาน มัน เค็ม และภารกิจพิชิตพุง" กิจกรรมเสริมนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้สุขภาวะ และนิทรรศการลดพุง ลดโรค ที่จะแสดงช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้
เบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ หรือ พี่อุ๋ม ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคอ้วนลงพุงและมีน้ำหนักเกินมาตรฐานเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากคนไทยมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม รับประทานอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เลือกบริโภคตามใจชอบ กินอาหารรสหวาน มัน เค็ม เกินความเหมาะสม ทำให้เกิดภัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และขาดการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม
"การทำกิจกรรมจะทำให้เด็กเห็นภาพว่าสิ่งที่ตนเองกินเข้าไปเทียบเป็นน้ำตาลเท่าไหร่ บอกว่าน้ำตาล 16 กรัม เด็กจะไม่เห็นภาพ หรือบอกว่าอ้วนขึ้น เด็กก็จะได้ใส่ชุดแล้วรู้สึกว่าต้องแบกน้ำหนักมากขึ้น เห็นภาพจำลองมากขึ้นเมื่อได้ชมนิทรรศการ เป็นกิจกรรมเสริมกับนิทรรศการหลัก
หลายๆ โรงเรียนพยายามปรับเรื่องโภชนาการมากขึ้น เด็กกินผักผลไม้น้อย แต่กินไขมันและแป้งสูงกว่าที่ร่างกายต้องการ มื้อเช้าและเย็นเป็นมื้อที่เด็กอยู่ที่บ้าน บางบ้านอาจเลือกอาหารที่ซื้อง่ายอย่างแฮมเบอร์เกอร์หรือไก่ทอด เพราะความสะดวก จึงต้องหาช่องทางให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กเข้าใจว่าการกินเข้าไปแล้วจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญนั้นต้องใช้เวลามาก โดยปกติอัตราการเผาผลาญของเด็กจะดีกว่าผู้ใหญ่ แต่เด็กที่เป็นโรคอ้วนบางคนอัตราการเผาผลาญเท่าคนอายุ 50 ปี
บางเรื่องเราคิดว่าเด็กๆ เขารู้แล้ว แต่เขายังไม่รู้ และเขายังสามารถกลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟังได้ด้วย หลังเข้าร่วมกิจกรรมเด็กอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากนัก แต่อย่างน้อยจะมีข้อมูลไปพูดกับที่บ้าน หรือจะเริ่มเตือนเพื่อน เด็กประถมปลายจะเริ่มรักสวยรักงาม เมื่อรู้ว่ากินไก่ทอด 1 ชิ้นได้พลังงานเท่ากับกินข้าวก็เลือกกินข้าวดีกว่า ทำให้เริ่มคิดเรื่องสุขภาพบ้าง"
พี่อุ๋มเล่าให้ฟัง ก่อนจะแนะนำว่าสามารถเริ่มเข้ามาดูและทำกิจกรรมได้ทุกวัน ส่วนนิทรรศการลดพุงลดโรคเริ่มปลายเดือนกรกฎาคม ครอบครัวก็สามารถเข้ามาเที่ยวชมได้
ส่วน รุจิรา เจริญยิ่ง หรือ พี่รุรา ผู้บริหารโครงการนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้สุขภาวะ กล่าวว่า กิจกรรมแรลลี่ลดพุงทั้ง 2 ช่วง เป็นกิจกรรมที่เน้นกระบวนการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและการมีส่วนร่วมจากการลงมือปฏิบัติจริงผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยกิจกรรมในห้องนิทรรศการ "ยุทธการลดหวาน มัน เค็ม" มี 6 ฐาน คือ ภาพมายา เป็นการคำนวณปริมาณแคลอรีส่วนเกิน 1 ปีจากอาหารที่ชอบกิน พร้อมชมหนังสั้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ มนตราอาหาร น้ำหวานแปลงกาย DIY แปลงร่าง เสบียงเสี่ยงชีวิต และภารกิจพิชิตหวานมันเค็ม ส่วนกิจกรรมแรลลี่ 5 ฐาน "ภารกิจพิชิตพุง" ประกอบนิทรรศการลดพุงลดโรคช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ประกอบด้วยฐานกิจกรรม กำเนิดผู้กล้า 5 รหัสลับ (5 สี 5 ทัพพี 5 หมู่) ขยับเพลินๆ เบิร์นแคลอรี และ Healthy DIY
"ปัจจุบันต้องระวังพวกอาหารแปลงร่างน้ำหวานแปลงกาย อย่างน้ำอัดลมก็แปลงร่างมาจากน้ำตาล ถามว่ามีคุณค่าทางอาหารไหม ก็มี แต่แถมโรคมากมาย เพียงแค่กินอาหารผิดก็สามารถทำให้น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างมื้อเช้าเร่งรีบกินไม่เลือก กลางวันก็รีบ แล้วตอนเย็นก็มากินเต็มที่ ไม่นานน้ำหนักจะขึ้นและตามมาด้วยโรคมากมาย กิจกรรมที่จัดขึ้นทุกฐานจะมีใบงานเล่นกิจกรรมแล้วประทับตรายาง อย่างฐานน้ำหวานแปลงกาย เป็นขวดน้ำ น้ำเปล่า น้ำหวาน เอาฉลากออก เอาเทียบเป็นน้ำตาลให้ดู ในวันหนึ่งเรากินน้ำตาลได้ 6 ช้อนชา แต่ถ้าเรากินเครื่องดื่ม 3 อิน 1 ก็ 3 ช้อนเข้าไปแล้ว กาแฟประมาณ 10 ช้อนชา ชาเขียว 14 ช้อนชา คนไทยกินน้ำตาลมากกว่าปริมาณการบริโภคทั่วไป 6 เท่า เราจะแปลงมาให้ดูง่ายๆ
"กิจกรรมแรลลี่ช่วงแรก ยุทธการลด หวาน มัน เค็ม จะเป็นเรื่องอาหาร สองเดือนหลัง ภารกิจพิชิตพุงจะเป็นเรื่องออกกำลังกาย กินเท่าไหร่ต้องเผาผลาญไปเท่านั้น แปลงเป็นเกมให้น้องๆ เล่นกัน แต่ละกิจกรรมจะสอดคล้องกัน สุดท้ายจะมีการสรุปใบงาน กลับไปแล้วได้อะไรบ้าง เรื่องราวพวกนี้เด็กได้เรียนรู้ที่โรงเรียนอยู่แล้ว แต่จะทำไม่ได้ อย่างมื้อเช้า เราเจอร้านสะดวกซื้อก็กินไส้กรอกชีส หรือแซนด์วิชแฮมชีสและน้ำอัดลม รวมกันได้ 470 แคลอรี ขณะที่ถ้ากินแกงส้มจะได้แค่ 100 กว่าแคลอรี แทนที่จะพูดให้ฟังก็เอามาให้เด็กๆ ดู เขาจะเข้าใจ หน้าที่ของเราคือย่อยเนื้อหาออกมาเป็นกิจกรรมง่ายๆ" พี่รุจิราบอก
เอ…ฟังดูยาก ถ้าจะให้เด็กๆ เปลี่ยนมากินอาหารสุขภาพ แต่พี่รุจิราปฏิเสธว่า ไม่ได้ห้ามอย่างเข้มงวด เพียงแต่ว่าตอนนี้กำลังพยายามรณรงค์ เพราะเข้าใจทางเลือก ไม่ได้ปิดทุกประตู แต่อยากให้เลือกกินหน่อย
ส่วนอีกหนึ่งหนุ่มมาเล่าประสบการณ์การลดน้ำหนักอันเกิดจากกินผิดสุขลักษณะให้ฟัง
ชนะกุล แย้มบุปผา หรือ พี่นัท จากรายการ Dance Your Fat Off เล่าประสบการณ์ตรงว่า แต่ก่อนตนหนัก 130 กิโลกรัม จบรายการก็ยังออกกำลังมาตลอด จนตอนนี้น้ำหนักเหลือ 80 กิโลกรัม และยังมีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย
"อยากให้น้องๆ หมั่นออกกำลังกาย เข้าใจว่าเด็กๆ งดขนมยาก ก็ให้เลือกกินดีกว่า งดของมันของทอด ถ้าป่วยแล้วจะไม่สนุก เคยป่วยเป็นไขมันพอกตับเพราะอ้วน ต้องเข้าโรงพยาบาล หมอบอกว่าถ้าไปช้าอาจตายได้ พอเริ่มลดน้ำหนักตอนที่มาแข่งออกรายการ 2 อาทิตย์แรกก็ปรับตัวไม่ได้ เพราะเคยกินเยอะๆ มาตลอด แต่หลังจากนั้นก็เริ่มสบายเพราะรู้หลักในการออกกำลังกาย พอทำได้ก็มีกำลังใจที่จะทำต่อเรื่อยๆ เราต้องรู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ครอบครัวก็มีส่วนสนับสนุนให้กินแต่ของมีประโยชน์" พี่นัทกล่าว
พ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนสนใจพาน้องๆ ชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี เปิดบริการ อังคาร-ศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น. เสาร์ เวลา 10.00-18.00 น. ปิดบริการ อาทิตย์-จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับโรงเรียนหรือผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะในรูปแบบแรลลี่ สามารถติดต่อจองรอบล่วงหน้าได้ที่เบอร์ 08-3098-1804-7 ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ใช้เวลาว่างจูงมือกันมาลดพุง แถมได้พกความสนุกกลับบ้าน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน