หนุน “นักปั่นตาบอด” พิชิตกรุงเทพฯ-เชียงดาว หาทุนสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพฯ”
ที่มา : โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind
แฟ้มภาพ
“มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” เปิดตัวโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind” ชวนคนไทยร่วมสนับสนุน “นักปั่นตาบอด” พิชิตเส้นทาง 9 วัน 867 กม. กรุงเทพฯ-เชียงดาว หาทุนสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการอย่างยั่งยืน
“มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” โดย “ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โครงการซีพีสานฝันปันโอกาส โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารกรุงเทพ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind” ครั้งแรกของประเทศไทยที่คนตาบอด จะปั่นจักรยานพิชิตเส้นทาง 9 วัน 9 จังหวัด ระยะทาง 867 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาทุนสนับสนุนการจัดสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ชวนคนไทยส่งแรงใจ สนับสนุน และร่วมสานต่องานที่ “พ่อทำ” ด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้พิการในประเทศไทยที่จดทะเบียนแล้วคิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งประเทศหรือราว 1,802,375 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้พิการเกือบ 6 แสนคนเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำและขาดผู้ดูแล รวมถึงขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าเราจะสามารถช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีอาชีพและรายได้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การ empowerment ผู้พิการ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างให้เขามีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน ให้สามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ซึ่งเปิดให้บริการที่จังหวัดเชียงใหม่
“ปัจจุบันศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ซึ่งเปิดให้บริการที่อำเภอแม่ริม มีพื้นที่คับแคบ และไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ให้กับผู้พิการ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสานต่องานที่พ่อ ทำด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีพื้นที่มากถึง 33 ไร่ สามารถรองรับผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นต้นแบบของศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อพัฒนาผู้พิการให้เป็นประชากรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดทำ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่คนตาบอดจะปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตร หาทุนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอเชียงดาว จึงอยากที่จะขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้พิการในการที่จะร่วมกันขยายและสร้างโอกาสให้คนพิการ สานต่องานที่พ่อทำ ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามความยากจน มีอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกสังคมมองว่าเป็นภาระ ให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมต่อไป”
นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตัวแทนพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญที่เรียกว่านโยบายประชารัฐ ซึ่งส่งเสริมให้คนไทยเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในเรื่องของคนพิการ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม โดยการให้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อนำมาพัฒนาขีดความสามารถ สร้างสภาพแวดล้อมที่คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ บูรณาการการสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทุกภาคส่วน
“ในการจัดกิจกรรมในวันนี้ทางกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ร่วมสนับสนุนทางมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการในการจัดทำ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind เป็นจำนวนเงินกว่า 4 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมหารายได้ในการสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงให้สังคมเห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของผู้พิการโดยเฉพาะในเรื่องของการออกกำลังกายแล้ว ยังจะช่วยให้คนไทยเป็นความสำคัญในเรื่องของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสให้กับผู้พิการในสังคมไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกภาคส่วน ร่วมส่งแรงใจและร่วมกันบริจาคเงินให้ได้ตามเป้าหมายซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 67 ล้านบาท เพื่อให้การจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนสามารถดำเนินงานได้สำเร็จ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการอย่างยั่งยืน และร่วมกันสานต่องานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้ เพื่อให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้และสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า คนพิการ มีปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการออกมาใช้ชีวิตอิสระ เช่น คนปกติ ทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเดินทาง การสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการสาธารณะ การจะให้คนพิการมีมิติสุขภาวะที่ดีขึ้น ทั้งมิติกาย สุขภาพ สังคม และจิต ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ทางสสส. ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับการสนับสนุนโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการรณรงค์สื่อสารสังคม ให้มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนพิการ ให้รับรู้ รับทราบ เกี่ยวกับสิทธิของคนพิการตามกฎหมาย นอกจากนี้ สสส.มุ่งหวังว่ากิจกรรมนี้จะทำให้เกิดการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์กิจกรรมทางสังคมส่งเสริมสุขภาวะที่คนพิการและคนไม่พิการให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ ซึ่งตรงกับกรอบการทำงานของสำนักที่มุ่งให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม เรื่องการดำรงชีวิตอิสระเพื่อให้สามารถสื่อสาร เดินทาง และจัดการตนเองได้ ถือเป็นการยกระดับความสามารถคนพิการ ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น และถือเป็นโอกาสที่ดีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมดีๆ เพื่อคนพิการ โดย สสส. พร้อมร่วมสนับสนุนและบูรณาการการงานด้านคนพิการในมิติอื่นๆ ที่ สสส.ดำเนินการอยู่เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุผล
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ / ผู้อำนวยการด้านการพัฒนานโยบายเชิงกลยุทธ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่นปอเรชั่น กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs และปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าว คือประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน สุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ต่อองค์กร
“เครือเจริญโภคภัณฑ์ยินดีร่วมสนับสนุนโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ที่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มทรู ได้ร่วมสนับการฝึกอาชีพ การสร้างงาน และการสร้างอาชีพให้กับคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมเปิดศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนแห่งแรกของประเทศไทย ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ให้มีการจ้างงานและร่วมจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพด้านการเกษตร และร่วมพัฒนาแบรนด์ ‘ยิ้มสู้คู่อาจารย์วิริยะ’ เพื่อนำสินค้าของผู้พิการด้วยการเริ่มต้นนำผักไฮโดร เข้าวางจำหน่ายที่ Makro จังหวัดเชียงใหม่แล้ว นอกเหนือจากนี้ได้ส่งเสริมกลุ่มผู้บกพร่องทางการได้ยินด้วยการฝึกอบรมอาชีพและจ้างงานจริงบาริสต้าที่ทรู คอฟฟี่ ภายใต้โครงการ ‘Deaf Barrista’ ที่ทรู คอฟฟี่สาขารัตนโกสินทร์ และมีโครงการฝึกอาชีพคนพิการด้านการเกษตรร่วมกับสมาคมคนตาบอดในจังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน ที่จะนำผลิตพันธ์ออกสู่ตลาดผ่านช่องทางของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และการจัดทำโครงการ S2S From Street to Stars ร่วมกับสมาคมคนตาบอด และยังมีการจัดทำซิมการ์ดและเงื่อนไขการใช้บริการพิเศษสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็นและบกพร่องทางการได้ยิน เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมกลุ่มทรู ยังคงมุ่งมั่นสานต่อโครงการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมการสนับสนุน ส่งเสริมอาชีพให้กับผู้พิการทุกกลุ่มเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน”
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพมุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมโดยส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้และสามารถเผื่อแผ่ความช่วยเหลือให้แก่สังคมรอบข้างได้ซึ่งเป็นแนวทางที่ธนาคารเชื่อว่าจะช่วยให้สังคมไทยมีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนโดยธนาคารได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงศาสนา ส่งเสริมด้านการศึกษา สืบสานศิลปะและวัฒนธรรมไทย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
“ธนาคารสนับสนุนมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่ามูลนิธิฯ มีความมุ่งมั่นช่วยเหลือคนพิการให้สามารถประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารอีกทั้งขอบเขตการดำเนินการของมูลนิธิฯ ยังครอบคลุมไปถึงคนพิการในประเทศอื่น ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงถึงกัน และเป็นแนวทางเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่สนับสนุนการค้าและการลงทุนของทั้งผู้ประกอบการไทยที่แสวงหาโอกาสสำหรับการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และบริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและประเทศที่ธนาคารมีสาขาตั้งอยู่ทั้งในอาเซียนและประเทศคู่ค้าสำคัญของอาเซียน”
ด้านตัวแทนนักปั่นผู้พิการทางสายตา นายธรรม จตุนาม อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้าร่วมกิจกรรม “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind” ในครั้งนี้ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการร่วมปั่นครั้งนี้ว่า ตนเองเป็นอาจารย์สอนการดำเนินชีวิตอิสระให้แก่คนตาบอด orientation and mobility คือสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมแก่คนตาบอดเพื่อประโยชน์ในการเคลื่อนไหว หรือสร้างความคุ้นเคยในการดำเนินชีวิตภายใต้การมองไม่เห็น ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระ กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกายนั่นเอง
“การปั่นจักรยานในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้ออกมาใช้ชีวิต แทนการเก็บตัวอยู่เงียบๆ ในบ้าน ช่วยให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ทางกายร่างกายและจิตใจ สิ่งสำคัญคือสังคมจะได้ประจักษ์ว่าคนตาบอดไม่ได้เป็นภาระ แม้จะมองไม่เห็นคนตาบอดก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเช่นคนทั่วไป แต่คนคนพิการต้องมีวิธีการและมีเทคนิคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนทั่วไป เช่น การสอนลูกใส่เสื้อผ้า หากเด็กปกติทั่วไปก็จะมองพ่อแม่ว่าทำอย่างไร แล้วทำตาม แต่ถ้าลูกตาบอด พ่อแม่ต้องมีเทคนิคในการสอนลูกให้ใส่เสื้อผ้าเองได้ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งพ่อแม่ต้องไปพัฒนาตนเองและเรียนรู้เพิ่มเติม กิจกรรมปั่นไปไม่ทิ้งกันในครั้งนี้ คนตาบอดจะได้แสดงศักยภาพให้สังคมเห็นว่านี่คือพลังไม่ใช่ภาระ และยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้พิการอีกจำนวนมากให้ได้รับการยอมรับจากสังคมอีกด้วย ซึ่งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนนอกจากจะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้พิการทั่วประเทศในเรื่องของการมีอาชีพและการพึ่งพาตนเองได้แล้วนั้น ยังจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในสังคมไทยเกิดความเข้าใจ ยอมรับ และมองเห็นถึงศักยภาพภายในตัวของผู้พิการที่สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าเหมือนกับคนทั่วไปในสังคม”
สำหรับ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ผู้พิการตาบอดจำนวน 20 ชีวิต ร่วมกับนักปั่นจิตอาสาปั่นนำอีก 20 ชีวิต จะรวมพลังสามัคคีปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตร 9 วัน 9 จังหวัดในระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โดยเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่เพื่อหาทุนสนับสนุนการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยในแต่ละจังหวัดที่ผ่านไปจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นศักยภาพของผู้พิการและให้โอกาสผู้พิการในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต
จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้พิการในการที่จะร่วมกันขยายและสร้างโอกาสให้คนพิการ สานต่องานที่พ่อทำ ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามความยากจน มีอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกสังคมมองว่าเป็นภาระ ให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมต่อไป ด้วยการสนับสนุน โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind ด้วยการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านช่องทางต่างๆ ดังต่อไปนี้
ช่องทางที่ 1 : บริจาค 100 บาท ผ่านโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย กด*948*6666*100# แล้วโทรออก
ช่องทางที่ 2 : พิมพ์ Y100 แล้วส่ง SMS ไปที่หมายเลข 4899666 แล้วกดโทรออก เพื่อบริจาค 100 บาท สำหรับทุกเครือข่าย
ช่องทางที่ 3 : โอนเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ 162-3-07772-2, ธนาคารกรุงไทย 196-6-00208-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ 264-3-001530 ธนาคารกสิกรไทย 758-1-01398-6 ธนาคารกรุงศรี 494-0-00140-9 ชื่อบัญชีมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และร่วมสมทบทุนซื้อของที่ระลึก (เสื้อ) จากโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ตามจุดกิจกรรมต่างๆ หรือ Facebook ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
ช่องทางที่ 4 : บริจาค 100 TruePoint แทนเงิน 10 บาท ผ่านแอปทรูยู หรือ กด *878*2828# โทรออกฟรี
เฉพาะเครือข่ายทรูมูฟเอชเท่านั้น
ช่องทางที่ 5 : ร่วมบริจาคผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ "ทรูมันนี่ วอลเล็ท" ได้ตลอด24 ชม ดาวน์โหลดแอปฟรีทาง App Store และ Play Store คุณก็สามารถทำดีง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว ผ่านแอปทรูมันนี่ วอลเล็ท
และสามารถติดตามกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ได้ทาง Facebook : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (Facebook.com / Universalfoundation) หรือ www.wiriya.org และร่วมส่งแรงใจสนับสนุนนักปั่นผู้พิการทางสายตาด้วยการติดแฮชแท็คที่กำหนด #ปั่นไปไม่ทิ้งกัน #NoOneLeftBehind.