หนุน `กลไกสภาผู้นำชุมชน` สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


หนุน 'กลไกสภาผู้นำชุมชน' สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนยั่งยืน thaihealth


การทำให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ "ประเทศไทย 4.0" ต้องอาศัยแนวคิดการ "ระเบิดจากข้างใน"ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่หมายความว่า ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนที่เข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนาเอาความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนและหมู่บ้าน


แนวคิดดังกล่าวนี้ จึงเป็นวิสัยทัศน์ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ว่า "ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อมทีเอื้อต่อสุขภาวะ" โดยหนทางที่จะเข้าถึงทุกคนบนแผ่นดินไทย ก็คือ หมู่บ้าน/ชุมชน เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. จึงจัดเวทีวิชาการหนุนเสริมเพื่อสร้างชุมชนน่าอยู่ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเติมศักยภาพให้กับทีมพี่เลี้ยง ซึ่งนับเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน


ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนว่า ชุมชนและหมู่บ้านที่อยู่ในประเทศไทยนับว่าเป็นจุดแข็งแม้ในยามที่เศรษฐกิจของโลกผันผวน เนื่องจากชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้ ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. จึงให้ความสำคัญกับชุมชน โดยนับเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายที่สำคัญของ สสส. ในการขับเคลื่อนด้านสุขภาวะ ซึ่งอยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง และกระจายทุนการสร้างเสริม สุขภาพให้กับชุมชนในประเทศไทย ซึ่งการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของชุมชนจะเป็นการนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระดับบุคคลที่ทำได้ง่ายและนำมาสู่การสร้างรากฐานชุมชนที่เข้มแข็ง


หนุน 'กลไกสภาผู้นำชุมชน' สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนยั่งยืน thaihealth


"การรณรงค์และขยายผลกลไกสภาผู้นาชุมชนได้ทำมาเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยขณะนี้เรามีเครื่องมือมาขยายสภาพผู้นำชุมชน 4 ด้าน ประกอบด้วย บริการจัดการชุมชนโดยกลไกสภาผู้นำชุมชน ติดตามผลลัพธ์การดำเนินงานโดย ARE ใช้บันไดผลลัพธ์เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน และประเมินความเข้มแข็งของชุมชน 9 มิติ และเมื่อฐานชุมชนเข้มแข็งก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขเพิ่มมากขึ้นบนพื้นฐานที่ประชาชนมีสุขภาพที่ดี" ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว


ขณะที่ นางสาวเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวถึงการจัดเวทีฯ ในครั้งนี้ว่า การหนุนเสริมให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็เพื่อให้เข้าใจแนวคิดของสำนักฯ โดยการกระจายโอกาสในการสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นที่หลากหลายเข้าไปในพื้นที่โดยใช้หน่วยการจัดการ (Node) หนุนเสริมภาคีให้ทำงานบรรลุเป้าหมาย โดยใช้กระบวนการกิจกรรม หรือนำเมนูสุขภาวะเข้าไปขับเคลื่อน


"โครงการชุมชนน่าอยู่ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการจัดการพื้นที่ โดยใช้ "กลไกสภาผู้นำชุมชน" เพื่อจัดการปัญหาของชุมชนตนเอง โดยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน เริ่มจากสิ่งที่ชุมชนทำได้ มุ่งสู่การทำให้ชุมชนเข้มแข็งและน่าอยู่ โดยมี "กลไกพี่เลี้ยง" เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ สสส.ได้พัฒนาทีมพี่เลี้ยงให้มีศักยภาพในการหนุนเสริมกลไกสภาผู้นาชุมชน และให้ช่วยเหลือชุมชนแก้ปัญหาให้บรรลุเป้าหมายสุขภาวะ" นางสาวเข็มเพชร อธิบาย


หนุน 'กลไกสภาผู้นำชุมชน' สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนยั่งยืน thaihealth


"กลไกสภาผู้นำชุมชน" ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้ชุมชนสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง จนทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็งได้ ตัวอย่างที่นับว่าประสบความสำเร็จด้วยกลไกดังกล่าว คือ "บ้านสำโรง" จ.สุรินทร์ จากวิกฤตการณ์ปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ปัญหาชาวบ้านติดสุรา ปัญหาการระบาดของโรค ไข้เลือดออก และปัญหาขยะชุมชน จึงใช้กลไกสภาผู้นำชุมชน โดยคนชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน รวมกันลงมือทำ โดยมีทีมพี่เลี้ยงหนุนเสริมความรู้และเครื่องมือการดำเนินงาน และนำมาสู่ชุมชนเข้มแข็งที่เกิดจากการร่วมแรงกายแรงใจของทุกฝ่ายในชุมชน


ดังนั้นเมื่อสภาชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย หนึ่งในชุมชนที่ใช้กลไกสภาผู้นำชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่าง หน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่จังหวัดพัทลุง โดย นายเสณี จ่าวิสูตร หัวหน้าทีมพี่เลี้ยง ที่ช่วยเสริมพลังให้กับกลไกสภาผู้นำชุมชน เล่าว่า แรกเริ่มนั้นได้ชักชวนพื้นที่สนใจใน จ.พัทลุง เข้ารับฟังแนวทางการดำเนินโครงการชุมชนน่าอยู่ จำนวน 45 พื้นที่ จากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่น จึงได้สภาผู้นำชุมชน 3 รูปแบบ เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่บ้านและกรรมการเป็นแกนในการจัดตั้ง กลุ่มและองค์กรในชุมชนเป็นแกนนำ และภาคีราชการเป็นแกนนำ


"จากการจัดตั้งสภาผู้นำชุมชน เรามีทีม พี่เลี้ยงจำนวน 12 คน ที่หนุนเสริมการทำงาน โดยประเมินและสังเกตความยั่งยืนที่ได้จากกลไกของสภาผู้นำชุมชนพัทลุง คือ มีโครงสร้างที่ครอบคลุมกลุ่มและองค์กรในชุมชน มีกฎกติกาของผู้นำที่ทำเป็นต้นแบบ พัฒนาศักยภาพของทีม ดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเชิงประเด็นได้บรรลุผล และเมื่อค้นพบปัญหาข้อขัดแย้งก็สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่สิ่งที่ทีมพี่เลี้ยงแต่ละคนพึงมี คือ การมองเห็นว่าคนต้องพัฒนาและยกระดับตัวเองได้ โดยการมองฐานการพัฒนาอยู่ที่หมู่บ้าน และใช้ความเชื่อ ความศรัทธาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนงานเพื่อผลักดันให้กลไกสภาผู้นำชุมชนไปสู่เป้าหมาย เมื่อทุกคนในชุมชนมีความสุข ก็จะทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็งและสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน" นายเสณี เล่าทิ้งท้าย


ฐานของการพัฒนาประเทศ คือ การพัฒนาคนในชุมชนให้อยู่ในสภาพแวดล้อมของการมี สุขภาวะที่ดี เมื่อกาย ใจ สังคม และปัญญาของคนในชุมชนเข้มแข็งแล้วนั้น จะสร้างความเข้มแข็งออกมาสู่สังคมภายนอก และนำไปสู่การเพิ่มมวลความสุขให้กับประเทศไทย

Shares:
QR Code :
QR Code