หนุน กม. เอาผิดธุรกิจจัดฟันเถื่อน

พบพ่อค้าหัวใส ใช้วัสดุใกล้เคียงเลียนแบบ

 

หนุน กม. เอาผิดธุรกิจจัดฟันเถื่อน

               จุฬาฯ-สคบ.-ทันตแพทยสภา-สสส. ผลึกกำลัง ใช้กลไกทางกฎหมาย เอาผิดธุรกิจจัดฟันแฟชั่นเถื่อน หลังระบาดลามทั่วประเทศ เผยพบพ่อค้าหัวใส  ใช้วัสดุใกล้เคียงเลียนแบบทันตแพทย์ เปิดแผงลอยบังหน้า  เสี่ยงอันตรายสารพัด ทั้งสารตะกั่ว สารหนู   เตือนวัยโจ๋อย่าหลงกล ขณะที่ อย.เตรียมออกประกาศคุมขายเครื่องมือจัดฟัน ต้องขายให้ทันตแพทย์เท่านั้น

               ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในงานแถลงข่าว ความร่วมมือในการจัดการปัญหาสินค้าที่ไม่ปลอดภัย:กรณีการจัดฟันแฟชั่น  จัดโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทันตแพทยสภา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข  ศ.นพ.ภิรมย์   กมลรัตนกุล   อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า  ขณะนี้ยังมีการแอบเปิดร้านจัดฟันแฟชั่นเถื่อนอยู่หลายพื้นที่ และการจับกุมลงโทษทำได้ยาก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างค่านิยมแก่วัยรุ่นให้รู้ถึงพิษภัย อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายอต้องเคร่งครัด 

             

               นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ธุรกิจจัดฟันแฟชั่นยังเป็นที่นิยมมากของวัยรุ่น เพราะมีราคาราว 1,600-2,400 บาท จึงเป็นช่องทางสร้างรายได้ของพ่อค้าที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น  ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต เพราะผู้จัดฟันไม่ใช่ทันตแพทย์  อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น ลวด ยางสีและลูกปัดราคาถูก จึงมีสารเคมีอันตรายหลายชนิด เช่น สารตะกั่ว สารหนู สารแคดเมียม เป็นสารพิษที่ดูดซึมสะสมในร่างกาย  เครื่องมือที่ยึดกับฟันมีโอกาสบาดกระพุ้งแก้มและเนื้อเยื่อในช่องปาก ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ 

              

               นพ.สุภกร  กล่าวว่า    สสส.ได้สนับสนุนการจัดประชุม ความร่วมมือในการจัดการปัญหาสินค้าที่ไม่ปลอดภัย: กรณีจัดฟันแฟชั่น  ขึ้นทั้ง 4 ภาค เมื่อวันที่ 26 พ.ย. จัดขึ้นที่ภาคกลางกรุงเทพฯ วันที่ 1 ธ.ค. ที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ส่วนในวันที่ 15 ธ.ค. จะจัดขึ้นที่ภาคอีสาน จ.นครราชสีมา และในวันที่ 21 ธ.ค. ที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด และเทศบาลทั่วประเทศ ในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดฟันแฟชั่น มีการร่วมมือกันเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ช่วยกันเฝ้าระวัง และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย 

 

               ทพ. อดิเรก   ศรีวัฒนาวงษา  ประธานที่ปรึกษาทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า   หลังจากที่ทันตแพทยสภาได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 เพื่อออกประกาศสำหรับการควบคุมเครื่องมือแพทย์ที่ต้องจำหน่ายให้โดยแพทย์เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ทราบว่าอยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศ มีเนื้อหาให้ผู้ที่นำเข้าและจำหน่ายต้องทำรายงานส่งมายัง อย.ว่าจำหน่ายให้กับผู้ใดบ้าง  อย่างไรก็ตามทั่วประเทศมีธุรกิจจัดฟันแฟชั่นประมาณนับหมื่นแห่ง ส่วนในภูมิภาคเริ่มพบในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่  ลักษณะเป็นร้านแผงลอยเปิด 1-2 เดือน แล้วเปลี่ยนสถานใหม่ยากต่อการจับกุม อีกทั้งผู้ประกอบการมีการปรับรูปแบบ โดยนำวัสดุที่ใช้สำหรับจัดฟันที่มีคุณภาพคล้ายกับที่ทันแพทย์ใช้ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งเสี่ยงอันตรายเพราะผู้ที่ทำการจัดฟันไม่ใช่ทันตแพทย์

                           

               ด้านนายจิรชัย  มูลทองโร่ย    รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า  คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1/2549 เรื่อง ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่นเป็นการชั่วคราว  หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่น ที่ผ่านมา สคบ.ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด  ทำหน้าที่สอดส่องดูแลด้านคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ รวมถึงธุรกิจการจัดฟันแฟชั่นด้วย หากพบว่าผิดกฎหมายก็สามารถจับและดำเนินคดีได้ทันที  

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

 

update: 3-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: กิตติยา  ธนกาลมารวย

 

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code