หนุนให้ ‘ท้องถิ่น’ เป็นพี่เลี้ยง ‘ท้องถิ่น’

        ผลการดำเนินงานที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนโครงการขยายผลการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพแก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบลตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่กว่า 200 ตำบลในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าโครงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พร้อมจะมาดำเนินงานด้านสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น


/data/content/25651/cms/e_chjmnopqtvy7.jpg


          ที่ผ่านมาโครงการขยายผลการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพแก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ได้มีการพัฒนาทีมงานสร้างเสริมสุขภาวะ หรือให้ความรู้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการใน 2 แนวทาง คือให้ท้องถิ่นอบรมท้องถิ่น และให้สำนักงานควบคุมโรค (สคร.) เขตที่ 5, 6 และ 7 เป็นผู้ให้ความรู้ ซึ่งพบว่าเมื่อให้ท้องถิ่นอบรมให้ท้องถิ่นจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากเป็นการขยายผลจากการปฏิบัติจริงในหน่วยงานปกครองท้องถิ่น เกิดรูปแบบที่เป็นรูปธรรมสามารถปฏิบัติตามได้ และเป็นการขับเคลื่อนในจุดจัดการที่มีความใกล้เคียงกันจึงง่ายต่อการสร้างความเข้าใจและวางแผนงาน


          นายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน หัวหน้าโครงการขยายผลการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพแก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวยืนยันว่า แนวทางการขยายผลของ สสส.จะเน้นการสร้างทีมงานสร้างเสริมสุขภาพของ อปท.ให้มีความเข้มแข็งสามารถนำปัญหาด้านสุขภาวะไปเป็นนโยบายของ อปท.อย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาท้องถิ่นครบในทุกมิติสุขภาวะ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา เสริมพลัง ให้ท้องถิ่นบริหารพัฒนากันเองได้ต่อไป


          การดำเนินที่ผ่านมาพบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อย่าง องค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ได้พัฒนาทีมงานสร้างเสริมสุขภาพจน เกิดผลงานในเชิงประจักษ์จนได้รับรางวัล Good Governance ด้านการบริหารจัดการที่มีคุณภาพกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในระดับประเทศ เป็น 1 ใน 5 จากหน่วยงานปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ สสส.จึงสนับสนุนให้เทศบาลตำบลผักไหมเป็นพี่เลี้ยงสร้างทีมสร้างเสริมสุขภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีหน่วยงานตอบรับ 16 แห่ง มาร่วมลงนามเอ็มโอยู เตรียมพัฒนาทักษะให้ทีมสร้างเสริมสุขภาพภายในตำบล


    /data/content/25651/cms/e_bcejlnoruw36.jpg      นายสุรพล ให้ความเห็นว่า สิ่งท้าทายคือเมื่อเทศบาลตำบลผักไหมพัฒนาตัวเองจนได้รับการยอมรับและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมายแล้ว ในวันนี้ เทศบาลผักไหมจะต้องนำแนวทางไปพัฒนา อบต.อื่น ด้วยทักษะที่มาจากประสบการณ์ตรงจะสามารถจัดการความรู้ได้เอง มีพลังกว่า สร้างความเข้าใจ รับรู้แนวทางดำเนินการในเชิงปฏิบัติ เกิดเป็นกุศโลบายในการพัฒนาเพื่อบอกต่อให้ อบต.อื่น ปฏิบัติตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ


          "สสส.คาดหวังว่าหน่วยงาน อปท.ที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถทำแผนพัฒนาสุขภาวะระยะยาว 3 ปีขึ้นได้ในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมงานด้านสุขภาวะไม่ได้ให้ความสำคัญ มีเพียงการทำแผนระยะสั้นดำเนินงานปีเดียวก็จบไปไม่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาวะในพื้นที่ได้" นายสุรพล กล่าวและมั่นใจว่า เมื่อท้องถิ่นหันมาสนใจทำแผนระยะยาวก็จะเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับประชาชนในท้องถิ่น ทั้งในด้านกาย ใจ สังคม และปัญญา


          ด้านความพร้อมของ อบต.ผักไหม ในการทำหน้าที่เสมือน "พี่เลี้ยง" ให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง 16 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนี้ นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของ อบต.ผักไหม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจำนวน 18 คน ไปอบรมเตรียมความพร้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นและให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ทั้ง 16 อบต.ให้ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะในท้องถิ่นของตัวเองได้


           "มีคนสงสัยเยอะมากว่าจะไม่รบกวนเวลาของเจ้าหน้าที่ที่จะไปทำหน้าที่ประจำหรือไม่ ประเด็นนี้เราขอยืนยันว่าได้ผลในทางตรงข้าม เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ความรู้เพิ่มเติม รู้หลักในการทำงาน แทนที่จะทำงานหนัก แต่เมื่อมีความรู้ก็จะทำให้ทำงานง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีขึ้นมาก มีความเป็นทีมสูง" นายก.อบต.ผักไหม กล่าวส่วน "หลักสูตร" ที่ อบต.ผักไหม จะมอบความรู้ให้นั้น จะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน 2 คืน หลังจากอบรมครั้งแรกจะให้เวลาผู้เข้าร่วมอบรม 4 สัปดาห์กลับไปยังพื้นที่ตัวเอง แล้วลงไปสำรวจความต้องการของสมาชิกชุมชนว่าต้องการอะไร จากนั้นก็กลับมานำเสนอในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 พร้อมกับได้รับความรู้และกระบวนทัศน์ใหม่ๆ เสร็จแล้วก็นำไปปรับปรุงก่อนจะมาอบรมครั้งที่ 3 ส่วนการอบรมเพิ่มเติมที่จะมีเข้ามาคือการจัดการศูนย์เรียนรู้


/data/content/25651/cms/e_afkmquwy1358.jpg


           ผลงานโดดเด่นของ อบต.ผักไหม คือการกระตุ้นให้ชาวบ้านหนองลุง ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน ซึ่งอยู่ในเขตการดูแลของ อบต.ผักไหม จากหมู่บ้านที่ไร้ความกระตือรือร้นใดๆ ได้ลุกขึ้นมาทำโครงการหมู่บ้านปลอดเหล้า จนปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีผู้เข้ามาดูงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 คณะ ซึ่งทุกขั้นตอนชาวบ้านสามารถจดการกันเองได้ โดย อบต.ไม่ต้องเข้าไปดูแลอีกแล้ว


           เหตุนี้ความรู้และประสบการณ์สามารถถ่ายทอดสู่กันได้อย่างแน่นอน แต่จะสำเร็จหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการว่าจะจริงใจกับงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนมากน้อยแค่ไหน


 


 


        ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code