หนุนแม่บ้านร่วมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

          ชุมชนบางลี่ใต้ เมืองโอ่ง รวมตัวสร้างผลิตภัณฑ์จากเส้นพลาสติก จักสานให้เป็น ของใช้กระเป๋า กระบุง ที่เก็บของสีสันสวยงาม สืบสานภูมิปัญญาคนเฒ่าคนแก่ เพิ่มรายได้ สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนเติมความแน่นแฟ้น


/data/content/25455/cms/e_abdlrtuw4579.jpg


          ยุพา บาลี ผู้รับผิดชอบโครงการ "จักสาน พลาสติกเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาบ้านบางลี่ใต้" ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่าชุมชนบางลี่ใต้ซึ่งมีบ้านเรือนกว่า 200 หลังคาเรือน มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ รับจ้าง และมีรับราชการอยู่บ้าง แต่เดิมในถิ่นนี้ มีการจักสานเครื่องใช้ต่างๆ จากไม้ไผ่ แต่ ระยะหลังได้สูญหายไปตามกาลเวลา คนเฒ่าคนแก่ที่เคยจักสานได้เหลือน้อยและขาดการสืบต่อสู่คนรุ่นหลัง ขณะเดียวกันวัสดุคือไม้ไผ่ก็เริ่มหายาก หากปล่อยไปภูมิปัญญาชาวบ้านคงสูญหาย จึงได้รวมกลุ่มคนในชุมชนคิดทำผลิตภัณฑ์จากพลาสติกจักสานขึ้น เริ่มตั้งแต่การประชุม การฝึกอบรม การดูงาน และสามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายสร้างรายได้แก่ชุมชน


          "พวกเราส่วนใหญ่ก็เป็น อสม. (อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนคนในชุมชนเป็นประจำและเห็นว่าชุมชนของเรามีภูมิปัญญาเรื่องการจักสาน แต่คนรุ่นหลังๆ ไม่ค่อย มีใครทำได้กันแล้ว จึงได้รวมกลุ่มชักชวนคนในชุมชนที่สนใจประมาณ 30 กว่าคน เชิญผู้ที่มีความรู้มาฝึกหัดจนเป็น มีการไปดูงานในที่ต่างๆ ด้วย ออกแบบเองด้วย จนขณะนี้บางคนเอาไป ทำเป็นอาชีพสร้างรายได้อย่างจริงจัง" ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าว


          โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในเบื้องต้น ตั้งแต่ การฝึกอบรม การจัดซื้ออุปกรณ์อบรม โดยมีสมาชิกชุมชนเข้าร่วมหลายระดับตั้งแต่เยาวชน และผู้สูงอายุที่มีเวลาว่าง ขณะเดียวกันก็ได้รับการ สนับสนุนจาก อบต.ประธานชุมชน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน เพราะเห็นว่านอกจากจะเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน สร้างอาชีพ และสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ส่วนช่องทาง ในการขายคือการออกร้านตามงานต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งบางแบบ ก็ขายดีจนผลิตไม่ทัน และเราก็จะทำแบบใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ


          ซึ่งนอกเหนือจากรายได้ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว สิ่งสำคัญก็คือการรวมกลุ่มของชุมชน การมีส่วนร่วม สร้างความสามัคคีในชุมชนนั่นเอง


 


 


 


        ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ