หนุนแนวทางเกษตรมาบเอื้อง รับมือ ‘ภัยพิบัติ’

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรมตรวจบัญชีสหกรณ์


หนุนแนวทางเกษตรมาบเอื้อง รับมือ 'ภัยพิบัติ' thaihealth


หลายคนคงคิดว่าเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงเน้นเรื่องการพึ่งพาตนเองหรือเป็นเรื่องของอาหารการกินเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว นี่คือ 'ศาสตร์พระราชา' ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานด้านต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงการสนับสนุนความพร้อมภาคประชาชนในการรับมือกับ 'ภัยพิบัติ' ด้วย


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินทางไปยังศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครเพื่อป้องกัน เตือนภัยและฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติ (Crisis Management and Survival camps : CMS) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดยในครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านการทดลองเอาตัวรอดในสถานการณ์ภัยพิบัติแบบง่าย ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ชีวิตและสร้างทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากสิ่งของหรือวัสดุง่าย ๆ ที่อยู่รอบตัว


"มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมีความแข็งแรงทางด้านการพึ่งพาตนเองทางการเกษตร เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติหรือมหาอุทกภัยในปี 2554 พวกเขาเป็นฐานสำคัญในการช่วยเหลือผู้คนได้มาก จากนั้นเลยมาร่วมกันพัฒนาสร้างต้นแบบโดยเฉพาะการอบรมและพัฒนาคน เพราะการรับมือภัยพิบัติควรต้องมีเครือข่ายฝังในอยู่ในชุมชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญ"


ดร.สุปรีดา กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์สึนามิเป็นสัญญาณสำคัญที่เตือนว่าภัยพิบัติจะเป็นเรื่องหนักหนาขึ้น และสถิติที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นซึ่งมาพร้อมภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนหรือวิกฤติโลกร้อน สสส. จึงได้บรรจุเรื่องนี้ไว้เป็นแผนงานในภาพรวม เริ่มคือการมุ่งผลักดันนโยบาย สร้างกลไกรัฐให้มีความพร้อมแบบในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กฎหมายต่าง ๆ แต่ค่อนข้างผิดหวังว่าภาครัฐยังไม่ได้ปรับตัวมากนัก ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคู่ไปคือภาคประชาชน


"มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ พื้นฐานคือให้ทุกคนพึ่งตนเองในภาวะปกติได้ และจะมีประโยชน์มากขึ้นในภาวะภัยพิบัติ เพราะสถานการณ์นั้นความช่วยเหลือจากภายนอกมาช่วยได้น้อยลง ชุมชนที่พึ่งตัวเองได้จะอยู่รอดได้ดีกว่า เช่น จะหุงข้าวอย่างไรเมื่อไม่มีไฟฟ้า จะหาอาหารจากแหล่งไหน การวางแผนทำคลังอาหารเพื่อเตรียมพร้อมในภัยพิบัติอย่างไร ดังนั้นจึงต้องมีการจัดอบรมอาสาสมัครจากที่ต่างๆเพื่อกลับไปจัดตั้งขบวนในพื้นที่ ยิ่งขยายไปชุมชนก็ยิ่งรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ของเขาเองได้ดีขึ้น" ดร. สุปรีดา กล่าว


สำหรับกิจกรรมของ CMS ที่นำมาจัดในมหกรรมครั้งนี้ ออกแบบกระบวนการโดย ดต.นิรันดร์ พิมล หรือ 'ลุงดาบ' อดีตดำรวจตระเวนชายแดน ที่ลาออกจากราชการก่อนกำหนดเพื่อมาเป็นเกษตรกรในวิถีธรรมชาติส่วนปัจจุบันมีอีกตำแหน่งหนึ่งคือผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช


"กิจกรรมตรงนี้เป็นพื้นที่จำลองเล็ก ๆ และปรับให้เหมาะสำหรับเด็ก โดยมีเจตนามุ่งไปที่การสร้างแรงกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของปัญหาและเรียนรู้ไปอย่างสนุนสนานมากกว่า" ลุงดาบ กล่าว


ปกติหลักสูตรการอบรมอาสาสมัคร CMS ใช้เวลา 4 คืน 5 วัน จะสอนหลักกสิกรรมธรรมชาติ การดำเนินชีวิตประจำวัน การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ที่ทิ้งไม่ได้คือธรรมชาติพยากรณ์ เพราะไม่ว่ามด แมลง สัตว์ต่าง ๆ แม้กระทั่งต้นไม้ก็บ่งบอกเราได้ว่าฤดูกาลนี้ฝนจะตกหนักหรือจะแล้ง แล้งหนัก หรือแค่เดือนสองเดือน หรือพายุจะลงเราก็ใช้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติพยากรณ์


"ก่อนเกิดเหตุสึนามิ ลูกศิษย์เราที่อยู่ชายทะเลเป็นชาวมอแกนเคยเตือนแต่ไม่มีใครเชื่อ สาเหตุที่เขาเตือนเพราะบรรพบุรุษสอนต่อ ๆ กันมาว่าถ้าเมื่อไหร่ที่ไม้ไผ่ซึ่งปกติจะลอยขนานกับน้ำเปลี่ยนเป็นลอยตั้งขึ้น ให้ระวังจะเกิดสึนามิ นี่เป็นธรรมชาติพยากรณ์ที่เกิดจากภูมิปัญญา ปรากฏว่าครอบครัวนั้นสามารถช่วยเหลือกลุ่มของเขาขึ้นที่สูงได้"


ลุงดาบ ระบุว่า มนุษย์ต้องศึกษาเรียนรู้จากธรรมชาติ ส่วนภัยพิบัติถ้าเกิดขึ้นมาแล้วหลักก็คือต้องช่วยตนเองได้ เมื่อตนเองมีชีวิตรอดก็ไปช่วยคนในครอบครัว เมื่อคนในครอบครัวปลอดภัยก็ไปช่วยเหลือชุมชนของตนเองต่อ หลักกสิกรรมธรรมชาติก็คือการเตรียมพร้อมป้องกัน อีกส่วนหนึ่งที่สอนในหลักสูตร CMS ก็คือ การเผชิญเหตุซึ่งได้นำเอาประสบการณ์เอาตัวรอดจากการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนมาใช้ เช่น การจุดไฟ การหาน้ำสะอาดด้วยการทำเครื่องกรองน้ำอย่างง่าย การฝึกฝนการป้องกันตัวจากภัยต่าง ๆ เช่น งู หรือกระทั่งการหาเชือกจากธรรมชาติและการผูกเงื่อนแบบต่าง ๆ เป็นต้น


"พวกเราจะสร้างเครือข่ายของพวกเราขึ้นมาเองให้มีอยู่ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน เมื่อเกิดภัยพิบัติสามารถแจ้งมายังหน่วยเราได้ หน่วยเราจะตั้งเป็นวอร์รูม ระดมของช่วยเหลือจากพรรคพวกเครือข่ายและผู้ใจบุญเพื่อนำมาแพ็คเป็นถุงไปแจกจ่ายจนทั่วถึงทุกครัวเรือน ถ้าของไม่พอเราก็ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภาครัฐเจ้าของพื้นที่ให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือดูแลต่อไป"


ลุงดาบ บอกต่อไปว่า การอบรมลักษณะนี้ได้ทำต่อเนื่องมา 12 ปีแล้ว แต่ละปีจะมีอาสาสมัครเข้ามาฝึกราว 3 รุ่น โดยแต่ละรุ่นจะเปิดรับสมัครพื้นที่ละ 2 คน ซึ่งจะมีศูนย์ประสานงาน CMS ส่งมา ปัจจุบันมีอยู่ราว 102 ศูนย์ เรียกได้ว่ามีเครือข่ายกระจายไปเกือบทั่วประเทศแล้ว ซึ่งความจริงการสนับสนุนให้แต่ละท้องถิ่นมีความรู้จัดการตนเองถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ลุงดาบบอกว่า หน่วยงานภาครัฐดูจะยังไม่ค่อยให้ความสนใจนัก จึงไม่มีการสนับสนุนงบประมาณลงมาสำหรับงานในลักษณะนี้


ตอนจัดอบรมรุ่นแรกก็ใช้งบประมาณของตัวเองทำงานแบบอาสาสมัคร มาช่วยกันฝึกช่วยกันสอน มาช่วยกันถ่ายทอด ก็ทำงานแบบนี้เรื่อยมา ต่อมามีงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. ช่วยส่วนหนึ่ง ส่วนที่มาจัดงานแบบนี้ทุก ๆ ปี ก็เพื่อโน้มน้าวเด็ก ๆ ที่อยู่ในเมืองหรือเด็กที่สนใจได้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้ เขาจะเห็นว่าการหุงข้าวไม่จำเป็นต้องมีไฟแช็ค ไม่ต้องมีหม้อหรือภาชนะ แค่มีกระบอกไม้ไผ่ ผ้าขาวม้าหรือกระทั่งผ้าเช็ดหน้าก็ทำได้


"อยากให้คนรุ่นใหม่สนใจ เพราะตอนนี้ลุงอายุ 70 ปี แล้ว ก็อยากให้มีคนมาสานต่อไป" ลุงดาบ กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มและความหวัง ท่ามกลางเด็ก ๆ ที่กำลังทำกิจกรรมกลางแจ้งในส่วนป่ากันอย่างสนุนสนานในเวลานี้

Shares:
QR Code :
QR Code