หนุนเด็กไทยลดบริโภคหวาน มัน เค็ม

หนุนเด็กไทยลดบริโภคหวาน มัน เค็ม thaihealth


แฟ้มภาพ


อย. วิจัยจัดแผนกิจกรรมเรียนรู้การบริโภคอาหารปลอดภัยให้ นร. ม.1 จำนวน 4 แห่ง พบ มีความรู้เลือกกินอาหารปลอดภัยดีขึ้น รู้อะไรดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ฟุ้งช่วยเด็กลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ไม่เลือกกินอาหารทำลายสุขภาพหน้าโรงเรียน ป้องกันโรคเรื้อรัง ถือเป็นโมเดลต้นแบบ


เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวปลุกกระแสเด็กไทยใส่ใจสุขภาพเปลี่ยนพฤติกรรมผลักดันรูปแบบ (Model) ให้ใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษา ว่า การป้องกันโรคก่อนป่วยแล้วรักษาเป็นเรื่องสำคัญตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดังนั้น การเริ่มต้นให้เด็กไทยหันมารักษาสุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยของ อย. ในปีนี้ ได้ทำวิจัยเพื่อหารูปแบบ (model) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมของนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตกรุงเทพ โรงเรียนต้นแบบ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่โรงเรียนต้นแบบตั้งอยู่ โดยหาสาเหตุและสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และนำผลที่ได้มาสร้างรูปแบบเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ซึ่งประกอบด้วย แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จำนวน 9 แผน รวมถึงได้จัดทำสื่อต้นแบบประกอบการจัดกิจกรรมตามแผน เช่น สารคดีสั้น สื่อวีดิทัศน์ประกอบ infographic  ชุดนิทรรศการ หนังสือเสริมสร้างพฤติกรรมการบริโภค ฯลฯ


นพ.บุญชัย กล่าวว่า จากการนำแผนการจัดกิจกรรมทั้ง 9 แผนทดลองใช้กับนักเรียนชั้น ม.1 ในโรงเรียนต้นแบบ 4 โรงเรียน จาก 4 ภาค ได้แก่ โรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” จ.ระยอง, โรงเรียนภูเขียว จ.ชัยภูมิ, โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จ.เชียงใหม่  และโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล จ.กระบี่ พบว่า นักเรียนกลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยในทางที่ดีขึ้น ได้แก่ มีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย จากร้อยละ 60.1 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.1 รับรู้โอกาสเสี่ยงจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัยจากร้อยละ 71.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 93.2 รับรู้ความรุนแรงจากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัยจากร้อยละ 80.0 เพิ่มเป็นร้อยละ 89.4 รับรู้ประโยชน์จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยจากร้อยละ 84.0 เพิ่มเป็นร้อยละ 93.6 รับรู้อุปสรรคจากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยจากร้อยละ 55.4 ลดลงเหลือ ร้อยละ 40.6 มีสิ่งชักนำสู่การปฏิบัติในการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย จากร้อยละ 81.0 เพิ่มเป็นร้อยละ 90.8 มีความเชื่อมั่นในความสามารถตนเองในการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย จากร้อยละ 78.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 86.4 สิ่งสำคัญที่ต้องการปรับเปลี่ยน คือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย พบว่า ก่อนการทดลอง นักเรียนกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 68.5 เพิ่มขึ้นเป็นระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 75.5


 “หลังทดลองนักเรียนมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยมากกว่าก่อนการทดลอง โมเดลต้นแบบจากแผนการเรียนรู้ดังกล่าวนับว่าประสบผลสำเร็จสูง ทำให้เด็กไทยลดการบริโภคขนม หรืออาหารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ทำให้เด็กรู้จักอ่านฉลากก่อนการเลือกซื้ออาหาร โดยเฉพาะการอ่านและใช้ประโยชน์จากฉลากหวาน มัน เค็ม บนซองขนมกรุบกรอบ รวมทั้งมีความรู้ในการเลือกซื้อเลือกบริโภคอาหารที่ขายตามหน้าโรงเรียน เช่น อาหารทอด ปิ้ง ย่าง ใส่สี เป็นต้น ถือเป็นมิติใหม่ของ อย. ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียน ซึ่งการลดบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ก็ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคอ้วน” เลขาธิการ อย. กล่าว


 


 


ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์                            


 

Shares:
QR Code :
QR Code