หนุนเด็กแรกเกิดกินนมแม่สร้างภูมิคุ้มกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ และอินเทอร์เน็ต
สสส.หนุนเด็กแรกเกิดกินนมแม่สร้างภูมิคุ้มกัน แข็งแรงด้วยเลือดในอกแม่
"ลืมตามาชำเลืองดูโลก เกิดมาเป็นทารกสามัญชนธรรมดา" บทเพลงของวงคาราบาว ขับร้องโดยแอ๊ด คาราบาว เมื่อหลายสิบปีก่อนโน้น วันนี้ฟังอีกครั้งให้รู้สึกเหมือนสะท้อนอะไรบางอย่างให้กับคนไทยได้ตระหนัก ได้คิด ได้วิเคราะห์ถึงสัจธรรมว่า คนไทยไม่ว่าจะกี่ยุค กี่สมัย ก็ล้วนแต่อยู่ภายใต้กลุ่มทุน ที่คอยหล่อหลอมให้คนไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพดิ้นรนไม่ออก ยังไงเสียก็ต้องเป็นไปตามสิ่งมอมเมากลไกของตลาด โดยที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลืออะไรได้เลย โดยเฉพาะเด็กทารกแรกเกิด ที่พ่อแม่ถูกมอมเมาไปกับโฆษณาชวนเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผงแทนนมแม่
อย่างไรก็ตาม ปีนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์สุขภาวะดีเริ่มที่นมแม่และบริโภคผักผลไม้ให้ได้ตามเกณฑ์ พร้อมเผยผลวิจัยใน 5 จังหวัดของแต่ละภูมิภาค พบว่า คนในชุมชนกว่า 40% มีความรู้เรื่องประโยชน์ของนมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่มากพอ จึงหันไปเลี้ยงลูกด้วยนมผงแทน โดยไม่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อทารก
ขณะที่ยอดการกินผักและผลไม้ได้ตามเกณฑ์ 400 กรัมต่อวันขององค์การอนามัยโลก มีสัดส่วนที่ 51% เท่านั้น โดยคนส่วนหนึ่งหวาดกลัวสารเคมีตกค้าง สสส.จึงได้ร่วมรณรงค์ให้ความรู้แก่ชุมชน เพื่อสร้างตำบลปลอดนมผงและตำบลคนกินผักเพิ่มขึ้น
สำหรับเรื่องนี้ นางนันทวัน ยันตะดิลก หัวหน้าโครงการรณรงค์สุขภาพจะดีเริ่มที่นมแม่และบริโภคผักผลไม้ให้ได้ตามเกณฑ์ ประจำปี 2559 (มีนาคม 2559-กุมภาพันธุ์ 2560) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่สองว่า จากสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโครงการรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายนมแม่และเพิ่มอัตราการบริโภคผัก ผลไม้ ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน
ในปี 2558 พบว่า ประชาชนในชุมชนที่ดำเนินโครงการใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ระยอง อุบลราชธานี และอำเภอหาดใหญ่ สงขลา ร้อยละ 31 ไม่รู้ว่านมผงทำให้เด็กเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ โรคอ้วน โรคติดเชื้อ โรคอื่นๆ อีกหลายโรค และร้อยละ 28 ไม่รู้ว่านมผงเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในขั้นตอนการผลิต การเตรียม การชง และการเก็บรักษา ขณะที่ประชากรร้อยละ 43 ยังคงเลี้ยงทารก 0-6 เดือน ด้วยนมผง และร้อยละ 8 เชื่อว่านมผงมีคุณประโยชน์เทียบเท่านมแม่ ร้อยละ 20 เชื่อว่านมผงทดแทนนมแม่ได้ และร้อยละ 38 เชื่อว่านมผงใช้เสริมนมแม่ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อหาค่าเฉลี่ยแล้ว ได้ข้อสรุปว่า ประชากรร้อยละ 70 ยังคงมีทัศนคติต่อการเลี้ยงดูลูกที่ไม่ถูกต้องและนำไปสู่การตัดสินใจเลือกใช้นมผงเลี้ยงทารกแทนนมแม่ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชนในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการถอดบทเรียนของภาคีเครือข่ายในพื้นที่โครงการว่า ประชาชน ในชุมชนยังคงมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องในเรื่องนมแม่และนมผง ไม่ตระหนักในคุณค่าของนมแม่ และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งยังไม่มีข้อมูลเรื่องการเก็บรักษานมแม่อย่างเพียงพอถูกต้องและเหมาะสม จึงนำไปสู่การตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมผงในที่สุด
ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้สนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นให้ต่อเนื่องกันไปอีกหนึ่งปี เพื่อสร้างเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงาน 3 ด้านด้วยกัน คือ สร้างการรู้เท่าทัน เสริมสร้างค่านิยมและสภาพแวดล้อม โดยเน้นการใช้สื่อสาธารณะและสื่อบุคคลให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกชุมชนในพื้นที่โครงการ เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายผู้สร้างพฤติกรรมสุขภาพให้กว้างขวางขึ้น ด้วยการขยายพื้นที่การทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พัทลุง ระยอง ลำพูน และอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้น 20 ตำบล โดยภาคีหลักเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข
ทั้งนี้ กิจกรรมที่ดำเนินการแล้วคือ การวิจัยชุมชนโดยชุมชนเอง เพื่อค้นหาข้อมูลทุนความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อและพฤติกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการบริโภคผักและผลไม้ พบว่า ยังคงมีความรู้เรื่องประโยชน์ของนมแม่ไม่ครบถ้วน ขาดข้อมูลและไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาการให้นมลูกได้ รวมถึงขาดข้อมูลเรื่องผลกระทบหรือพิษภัยจากนมผงประมาณร้อยละ 25 ยังเชื่อว่านมผงดีเท่ากับนมแม่และใช้ทดแทนนมแม่ได้ ประกอบกับข้อจำกัดที่ต้องไปทำงานไกลบ้านทำให้ตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมผง ทำให้ลูกขาดโอกาสที่จะได้รับนมแม่จนครบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนมากกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยกับการรณรงค์ให้ตำบลของตนเองเป็นตำบลปลอดนมผง
ส่วนด้านการบริโภคผักและผลไม้ พบว่า ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปมีความรู้เรื่องประโยชน์ของผักและผลไม้เป็นอย่างดี มีวิถีชีวิตที่บริโภคผักและผลไม้เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว แต่ในคนที่อายุน้อยกว่า 24 ปี มีทัศนคติที่ไม่สนใจการบริโภคผักและผลไม้ หรือปลูกผักและผลไม้เพื่อกินเอง ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน และมะเร็งในระบบการย่อยอาหาร ส่งผลให้อัตราผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยสูงขึ้นตามลำดับ
กล่าวมาถึงตรงนี้ทำให้เกิดความกังวลที่เด็กไทยกำลังถูกกลุ่มธุรกิจนมผงเข้าครอบงำพ่อแม่ของเด็กแรกเกิด และไม่เห็นรัฐบาลเข้ามาแก้ไข มีปัญหาเหล่านี้ เพียงกลุ่ม สสส.และกลุ่มหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขบางหน่วยที่ลุกขึ้นมาให้ความรู้ ลุกขึ้นมารณรงค์ให้เด็กแรกเกิดถึงหกเดือน ได้ดื่มกินนมแม่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่างๆ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิถีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ในการเริ่มต้นชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะนมแม่เป็นทั้งอาหารกาย อาหารสมอง อาหารใจแก่ลูกรัก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์และคุณค่ามหาศาลต่อการพัฒนาสมอง สติปัญหาและอารมณ์ ทำให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ที่พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่อยู่ในสังคมได้อย่างงดงาม
วันนี้เรามาช่วยกันรณรงค์ให้เด็กแรกเกิดดื่มนมแม่กันเถอะ เพราะมีประโยชน์มากมาย ปกป้องโรคภัยต่างๆ หากมุ่งมั่นและช่วยกันดูแลลูกน้อยแรกเกิดถึง 6 เดือนให้ดื่มนม ส่วนเด็กที่วิ่งเล่นได้แล้วก็ควรแนะนำให้กินผักผลไม้ให้เพิ่มขึ้น เท่านี้เด็กไทยก็มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ว่าทำกันให้จริงๆ จังๆ โลกทั้งใบก็ย่อมจะสวยหรูไปด้วยสุขภาพดีแน่นอน