หนุนเด็กเล็กรู้เท่าทัน ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและอุบัติเหตุ
ที่มา : มติชนออนไลน์
แฟ้มภาพ
การป้องกันเด็กจากปัจจัยเสี่ยงของบุหรี่ เหล้า การพนัน รวมถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างอุบัติเหตุบนท้องถนน สามารถปลูกฝังเพื่อสร้างจิตสำนึกได้ตั้งแต่เด็ก ผ่านสื่อสร้างสรรค์ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับวัยและการเรียนรู้
พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ในวัยผู้ใหญ่ ยังคงเป็นภาพคุ้นชินที่มักได้เห็นโดยทั่วไปในสังคมไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของคนรอบข้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบในกลุ่มเด็กเล็กที่อาจคล้อยตามและอาจส่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงตามมาอีกด้วย
เด็กเล็ก หรือเด็กในช่วงวัยตั้งแต่ 2 – 6 ขวบ จะเรียนรู้การสร้างบุคลิกของตนเองโดยเริ่มจากการเลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้าง ผ่านการเรียนรู้ตามธรรมชาติ โดยทำการเลียนแบบทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดีปะปนกันกันไปตามสถานการณณ์ที่เด็กพบเจอ ซึ่งเด็กในวัยนี้มีความสามารถจดจำพฤติกรรมต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะเริ่มพฤติกรรมการเลียนแบบจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่และผู้ปกครอง
ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิดเด็กกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่ต้องสร้างพฤติกรรมตัวอย่างที่ดี โดยการลด-ละ-เลิก พฤติกรรมการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการเล่นการพนันต่อหน้าเด็ก เพื่อลดภาพจำและเกิดการเลียนแบบ รวมถึงการดูแลด้วยการให้แนวคิด สั่งสอน ชี้แนะแนวทางที่เหมาะสม รวมถึงการบ่มเพาะนิสัย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กเติบโตไปในทิศทางที่ดีและเป็นเด็กที่มีคุณภาพ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่สามารถนำมาต่อยอดสำหรับการดูแลและป้องกันเด็กจากปัจจัยเสี่ยงของบุหรี่ เหล้า การพนัน รวมถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างอุบัติเหตุบนท้องถนนในกลุ่มเด็ก นั่นคือ 'โมเดลสื่อสร้างภูมิเกราะป้องกันเด็กเล็ก รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ การพนัน อุบัติเหตุทางถนน' ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องผ่านชุดสื่อกิจกรรมของโครงการอารักข์ (ARRAG Project) หรือโครงการการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม และโครงการอาสา (ARSA Project) หรือโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากเหล้าและบุหรี่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เสริมภูมิคุ้มกันหรือการ 'ฉีดวัคซีน' ในเด็กเล็กเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเหล้า บุหรี่-การพนันในระยะยาวได้
เรื่องนี้ สสส. และผู้ดำเนินการโครงการอารักข์-โครงการอาสา ได้จัดสัมมนา 'บทสรุปการสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ การพนันและอุบัติเหตุทางถนนสำหรับเด็กวัยอนุบาลและนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ผ่านชุดสื่อกิจกรรมของโครงการอารักข์ และโครงการอาสา' เพื่อเปิดช่องทางการนำเสนอและสรุปบทเรียนการดำเนินการที่ผ่านมา รวมถึงเปิดพื้นที่เผยแพร่ชุดสื่อกิจกรรมเพื่อเกิดการต่อยอดในอนาคต
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน และอุบัติเหตุ อยู่แวดล้อมใกล้ตัวเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างยิ่ง หลายปัจจัยเสี่ยงเด็กเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสี่ยงเหล่านั้นด้วย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ 12.7% มีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ 20.9% หรือเฉลี่ย 1.9 ล้านคน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่ก้าวล่วงไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้างอีกด้วย
ตัวอย่างผู้เสียชีวิตแต่ละปี จำนวน 9,435 คน หรือข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2562 เผยว่า เด็กและเยาวชนไทย จำนวน 70,952 คน เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง รวมถึงคนไทยอีก 13 ล้านคน ล้วนได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านทุกวันอีกด้วย
ความสัมพันธ์เรื่องนี้ คือ แอลกอฮอล์ยังเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กอายุ 15-19 ปี ขณะที่ปัญหาการพนันพบว่า ประชาชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนรอบข้างเล่นการพนันถึง 98.9% มีเยาวชนอายุ 15-25 ปี เล่นการพนันถึง 4.3 ล้านคน
"สสส. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะมุ่งการป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยมุ่งพัฒนาจิตสำนึกสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่วัยเด็ก โดยให้เด็ก 'มีสติบนฐานของการรู้จริง' อันจะเป็นตัวคิดอย่างรู้เท่าทัน สู่การตัดสินใจแยกแยะ เลือกปฏิบัติเพื่อรอดพ้นจากปัจจัยเสี่ยง ผ่านสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นคง และเกิดเป็นภูมิคุ้มกันระยะยาวในอนาคตได้"
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า จากการสนับสนุนโครงการอาสา และโครงการอารักข์ เกิดจากแนวคิดที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ เพื่อสร้างการเรียนรู้ ฝึกให้เด็กระดับชั้นอนุบาล และระดับประถมศึกษาตอนต้น รู้จักคิด ตัดสินใจแก้ปัญหา ผ่านโมเดลสื่อการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับสถานศึกษา โรงเรียนสุขภาวะ คณะครู เด็ก และชุมชนกว่า 2,000 คนในโรงเรียน 138 แห่ง
นอกจากนี้ ผลการประเมินผลการดำเนินงาน ปี 2562 – 2564 พบว่า ครูทุกโรงเรียนยืนยันถึงผลสำเร็จของชุดสื่อกิจกรรมจากทั้งสองโครงการ ทั้งในแง่ของการนำไปใช้ได้จริง ถึง 96% ความเหมาะสมกับการพัฒนาการตามวัย 91% และมีฐานคิดทฤษฎีรองรับการพัฒนาชุดสื่อกิจกรรมให้เหมาะกับวัย 93% ซึ่งปัจจุบันสื่อการเรียนการสอนดังกล่าวได้นำมาต่อยอดไปใช้ในโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 รวม 42 แห่งทั่วประเทศ
"ในอนาคต สสส. วางเป้าหมายจะขยายรูปแบบการทำงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมมือกับคณะครูเครือข่ายที่มีอยู่ สามารถดึงกิจกรรมจากสื่อสร้างสรรค์นี้ไปต่อยอดสู่กระบวนการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น"
ด้าน ดร.อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการอารักข์ และโครงการอาสา กล่าวว่า จุดประสงค์สำคัญของทั้งสองโครงการ คือ มุ่งพัฒนาชุดสื่อกิจกรรมเพื่อที่สามารถนำไปใช้ได่จริงในสถานศึกษา โดยที่ โครงการอารักข์ เกิดจากแนวคิด การพัฒนากิจกรรม 'ฝึกสติผ่านการเล่นเกม' ผสมผสานกับหลักทักษะการพัฒนาสมองส่วนหน้า การคิดวิเคราะห์ปัญหา และการฝึกให้เด็กรู้จักการแก้ไขปัญหาเองได้
สื่อชุดกิจกรรมภายใต้โครงการอารักข์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ 1.กลุ่มสัมผัส ฝึกค้นหาตัวเอง 2.กลุ่มสัมพันธ์ ฝึกการรับรู้ความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 3.กลุ่มสัมปชัญญะ ฝึกการคิดริเริ่ม และ 4.กลุ่มสำรวจ ฝึกความเข้าใจความหมายของปัจจัยเสี่ยงและหาวิธีแก้ปัญหาได้ โดยดำเนินการทดลองกับโรงเรียน 22 แห่งทั่วประเทศ
ส่วนโครงการอาสา มีแนวคิดริเริ่มจากการสร้างภูมิคุ้มกันจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มาสร้าง 'พลังในตนเอง' เพื่อปรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ด้วยการพัฒนาชุดสื่อผ่านกิจกรรมฝึกสติ ให้เกิดการเล่นที่สอดคล้องกับธรรมชาติและการเรียนรู้ที่แท้จริง ซึ่งประยุกต์จากแนวคิด Design Thinking ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย 1.การสร้างความตระหนักถึงภัยจากเหล้าและบุหรี่ผ่านละคร 2.การวินิจฉัยความเป็นกลุ่มเสี่ยงของเด็กผ่านกิจกรรมร้านค้า 3.การฝึกจัดการความเครียดด้วยปัญญาแทนการพึ่งพาเหล้าและบุหรี่ 4.การรู้วิธีดูแลสุขภาพจากการล้างมือให้สะอาดและฝึกตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวจากกิจกรรมมอบแบบอาหาร และ 5.การเป็นไอดอลเด็กเพื่อเป็นกระบอกเสียงสอนผู้ใหญ่ให้ตระหนักถึงภัยจากเหล้าและบุหรี่ ปัจจุบันได้ทดลองการใช้ชุดกิจกรรมกับโรงเรียน 41 แห่งทั่วประเทศ
"สิ่งที่พบจากการดำเนินการทั้งสองโครงการ คือ เด็กเริ่มให้ความสำคัญเรื่องต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน เห็นความสำคัญของอุปกรณ์ปลอดภัย เกิดการต่อรองหรือเรียกร้องกับพ่อแม่ผู้ปกครอง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม กล่าวคือ เด็กสามารถเป็นกระบอกเสียงให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้"
ทั้งหมดคือ บทสรุปของสื่อกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการอารักข์ (ARRAG Project) และโครงการอาสา (ARSA Project) ที่ สสส. ได้ดำเนินงานร่วมเครือข่าย ร่วมกับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กเล็ก รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงและเกิดแนวคิด การตระหนักรู้ แก้ไขปัญหากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดโครงการ หรือดาวน์โหลดชุดสื่อการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ www.arrag-arsa.com และเฟซบุ๊ก แฟนเพจ โครงการ อาสา ARSA Project/โครงการ อารักข์ ARRAG Project