หนุนเด็กสร้างสื่อสานสายใยรักษ์ชุมชน

หนุนเด็กสร้างสื่อสานสายใยรักษ์ชุมชน thaihealth


          ด้วยปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ขาดการเรียนรู้ภูมิปัญญาและ อัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมไปถึงขาดความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กและชุมชน


          จุดประเด็นให้สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลอากาศอำนวย จ.สกลนคร ลุกขึ้นมารวมพลังสำรวจปัญหาด้านเด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ ขาดความเข้มแข็ง ตลอดจนไม่สามารถสร้างความพร้อมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น


          นายณัฐพงษ์ อินธิโคตร ประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลอากาศอำนวย จึงมีแนวคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยให้ภาคประชาสังคมในชุมชน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน เด็กและเยาวชน ร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านโครงการ "บ่มรัก เพาะใจ สานสายใยเยาวชน" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.


          มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.ให้เด็กและเยาวชนอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น 2.เรียนรู้และสร้างความเข้าใจในวัยอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม และ 3.พัฒนาจิตอาสาทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และพัฒนาชุมชนร่วมกัน โดยมีคณะทำงานร่วมระหว่างสภาเด็กและเยาวชน ชุมชน และเทศบาลตำบลอากาศอำนวย พร้อมลงสำรวจชุมชนค้นหาข้อมูลพื้นที่ดีและสร้างสรรค์ พื้นที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัย จากปราชญ์ชาวบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และร้านค้าที่จำหน่ายเหล้า/บุหรี่ในชุมชน


          ว่าที่ ร.ต.พัฒนายุทธ เพ็งบุญ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลอากาศอำนวย กล่าวว่าเทศบาลสนับสนุนให้เด็กออกแบบ คิดประเด็น สัมภาษณ์ ถ่ายภาพทำทุกอย่างด้วยตนเอง จุดเด่นที่มองเห็นในตัวเด็กและเยาวชนเมื่อครั้งที่พาไปศึกษาดูงานการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนของโครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัดอุบลราชธานี น้องๆ สนใจการทำสื่อ รู้สึกตื่นตาตื่นใจ เทศบาลก็นำมาต่อยอด ร่วมมือกับทางอุบลราชธานีให้มาช่วยกันสอนงานพร้อมอุปกรณ์ทุกอย่างให้กับเด็ก เป็นความโชคดีที่มีภาคีเครือข่ายเกื้อหนุนได้เป็นอย่างดี รู้สึกภูมิใจในประสิทธิภาพของเด็กบนความเชื่อที่ว่าเด็กทำได้ ลดปัญหาช่องว่างระหว่างเด็ก สามารถนำไปแก้ปัญหาสังคม


          ด้านเยาวชน น้องปอนด์ นายชนะศักดิ์ จุงอินทะ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา เล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการว่า สิ่งแรกที่ได้คือเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การปรับตัวและจัดสรรเวลาให้เป็น จึงถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ยังได้ความรู้เกี่ยวกับการเป็นพิธีกร นักพูด รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใช้คำพูดให้ถูกกับงาน การสอนวิธีทำสื่อ การเปิด-ปิดรายการ การตัดต่อวิดีโอ เป็นการเรียนรู้ที่มีค่า ผู้ใหญ่จะคอยให้คำแนะนำที่ไม่ใช่การหยิบยื่นหรือทำให้ แต่เด็กต้องจัดการกันเอง รู้จักการวางแผน วิธีการแก้ปัญหา เวลาลงพื้นที่ก็จะช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาในกลุ่มแกนนำ ช่วยกันดึงจุดเด่นของพื้นที่ออกมา


          "จากการลงพื้นที่อากาศอำนวยมีการทำผ้าย้อมคราม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และสืบสานไว้ เพราะจุดเด่นของตำบลคือผ้าย้อมคราม อีกทั้งมีประเพณีวัฒนธรรมเข้มแข็ง เช่น ประเพณีบุญเดือนหก ประเพณีแข่งไหลเรือไฟ แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาแต่ชุมชนยังเกาะกลุ่มกันมาก เทคโนโลยีก็ไม่สามารถมาแทรกได้


          ชนะศักดิ์เล่าอีกว่า ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมจะนำไปพัฒนาในพื้นที่โดยเริ่มจากชุมชนของตัวเอง โดยจะดึงเด็กที่มีปัญหาและใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์มาร่วมกิจกรรม ครั้งแรกไม่มีใครอยากเข้าร่วมกิจกรรมเพราะส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเรียน จึงต้องเน้นการเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีการเสนอกิจกรรมที่แปลกใหม่คือการทำสื่อวิดีโอ เพราะกิจกรรมเดิมๆ ร้องเล่น เด็กโรงเรียนในเมืองไม่ค่อยอยากจะทำ แต่เมื่อได้มาเรียนรู้การเป็นนักข่าว เป็นพิธีกร จึงเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและสนุก ภาคภูมิใจ ทุกคนชอบ เกิดเป็นสายใยให้เยาวชนมาร่วมกันทำกิจกรรมมากขึ้น


          นายวัชรินทร์ รุณจักร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอากาศอำนวย กล่าวว่าชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทโย้ย 1 ใน 6 กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร ที่มีภาษาพูด ประเพณี วัฒนธรรมสืบทอดมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ สิ่งหนึ่งที่เน้นคือการหันมาส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมของคนพื้นถิ่นไทโย้ยให้ฟื้นคืนกลับมา ไม่หลงใหลไปกับสังคมโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการแต่งตัวแบบไทโย้ย จึงส่งเสริมการทอผ้าย้อมคราม


          "จึงเป็นเรื่องดีที่เด็กและเยาวชนร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม โดยการใช้สื่อเป็นตัวดึงเด็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชนท้องถิ่นรักและหวงแหนอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมของตนเอง เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางสังคมด้านเด็กและเยาวชน ตลอดจนมีส่วนร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่และยั่งยืน"


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code