หนุนเครือข่ายชุมชน สร้างสังคมสุขภาวะ
สสส. เดินหน้าหนุนเครือข่ายชุมชน สร้างสังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะ ครอบคลุมแล้ว 66 จังหวัด ยก บ้านขาม-บ้านสำโรง จ.สุรินทร์ ต้นแบบชุมชนน่าอยู่ภาคอีสาน ชื่นชมสภาผู้นำเข้มแข็ง-จัดการสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะดีเยี่ยม
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ในการลงพื้นที่ดูงานชุมชนน่าอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ อ.จอมพระ และ อ.เมือง จ.สุรินทร์ นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม(สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2553-2556 สำนัก 6 สนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่” โดยกำหนดให้มีปัจจัยความสำเร็จจากการมีกลไกหลัก 8 ก ได้แก่ 1.แกนนำ กลุ่ม/องค์กร 2.กัลยาณมิตร 3.กองทุน 4.การจัดการ 5.การเรียนรู้ 6.การสื่อสาร 7.กระบวนการพัฒนา และ 8.กฎกติกา ซึ่งที่ผ่านมารวม 1,487 โครงการ ใน 66 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สอดคล้องกับพื้นที่ จนเกิดชุมชนพึ่งตนเองได้จำนวนมาก สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการ 362 โครงการ ใน 20 จังหวัด
“บ้านขาม และบ้านสำโรง จ.สุรินทร์ เป็นต้นแบบที่โดดเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเรื่องสภาผู้นำ แกนนำชุมชนที่เข้มแข็ง เกิดกฎกติกาและมาตรการต่างๆ ในชุมชน อาทิ การปลูกผักไร้สาร การคัดแยกขยะ พร้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เป็นแนวทางการดำเนินงาน เน้นการพึ่งตนเอง ก่อให้เกิดความยั่งยืนระยะยาว เชื่อมั่นว่าหากดำเนินงานอย่างกว้างขวาง จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศน่าอยู่ต่อไป” นางเพ็ญพรรณ กล่าว
นายสามารถ ดาศรี กำนัน ต.บุแกรง และประธานสภาผู้นำชุมชนบ้านขาม อ.จอมพระ กล่าวว่า นำกลไก 8 ก มาขับเคลื่อนโครงการ “บ้านขาม ชุมชนน่าอยู่ด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม” ตั้งสภาชุมชนจากกลุ่มที่หลากหลาย พร้อมทำงานเพื่อชุมชน 45 คน และทุกคนต้องผ่านกระบวนการพัฒนาตามแนวทาง “สร้างสำนึกรักบ้านเกิด” มีการกำหนดกฎกติกาของชุมชน เช่น การจัดการขยะในครัวเรือน ขยะจากร้านค้า น้ำเสียในครัวเรือน เหตุรำคาญจากมูลสุกร พร้อมประกาศยกย่องครัวเรือนต้นแบบ/คุ้มต้นแบบ เกิด 5 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ 1.ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 2.ฐานการเรียนรู้เพิ่มรายได้ 3.ฐานการเรียนรู้ ลดรายจ่าย 4.ฐานการเรียนรู้อาหารปลอดภัย และ 5.ฐานการเรียนรู้การจัดการชุมชน ส่งผลให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 80% ปัจจุบันเป็นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการชุมชน โดยเฉพาะในประเด็นการจัดการขยะ
นายพีรวัศ คิดกล้า ผู้ใหญ่บ้านและประธานสภาผู้นำชุมชนน่าอยู่บ้านสำโรง อ.เมือง กล่าวว่า โครงการ “ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นบ้านสำโรงให้น่าอยู่” ใช้กลไก 8 ก ขับเคลื่อนเช่นกัน โดยใช้โครงสร้างกรรมการหมู่บ้านเดิม 15 คน และคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ รับสมัครจิตอาสาโดยไม่จำกัดอายุ เพศ ตั้งเป็นสภาชุมชน 53 คน แบ่งหน้าที่ดูแล กระตุ้น ประเมินครัวเรือนน่าอยู่เป็น 6 คุ้ม ตามมติที่ตกลงร่วมกัน 5 ข้อ ได้แก่ 1.ปลูกผักปลอดสารไว้รับประทานอย่างน้อย 5 ชนิด 2.คัดแยกขยะและดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อม 3.ลด ละ ปลอดเหล้า ไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทให้เกิดความรำคาญ 4.ไม่มีลูกน้ำยุงลายบริเวณบ้าน และ 5.ร่วมประชุม กิจกรรม และพัฒนาหมู่บ้านทุกครั้ง ผลการดำเนินงานพบครัวเรือนปลูกผักปลอดสารครบ 5 ชนิด 100% คัดแยกขยะ 87.86% ปลอดเหล้าไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท 31.21% ไม่มีลูกน้ำยุงลาย 30.05% ร่วมกิจกรรมหมู่บ้าน 86.12% อีกทั้งยังขยายผลการดำเนินงานไปยังโรงเรียน โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ทำโครงการต่างๆ อาทิ อาหารกลางวัน รั้วผักกินได้ แปลงเกษตร 1 ไร่ 1 แสน อีกด้วย
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข