หนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดดเด่นธรรมาภิบาลเข้มแข็ง
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
สสส. สคบ. และหน่วยวิชาการ ร่วมหนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ มอบใบรับรอง 222 องค์กร ขึ้นแท่นมีคุณภาพขั้นสูง 19 องค์กร โดดเด่นธรรมาภิบาลเข้มแข็ง พ่วงระบบบริหารสมัยใหม่ หวังช่วยปกป้องผู้บริโภคไทยจากสินค้าและบริการที่อาจเป็นอันตราย
วันที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่ ห้องเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นพ.มงคล ณ สงขลา กรรมการประสานยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและการพัฒนาระบบยา สสส. และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ทิศทางและบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในการประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพเรื่อง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ: ทิศทาง บทบาทและการสนับสนุน และพิธีมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย
นพ.มงคล กล่าวว่า การมอบใบประกาศรับรองให้กับองค์กรผู้บริโภคคุณภาพในวันนี้ ทุกองค์กรได้ผ่านเกณฑ์ประเมินที่ร่วมออกแบบโดยศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และตัวแทนองค์กรผู้บริโภค โดยมีเกณฑ์ทั้งด้านโครงสร้างองค์กร กระบวนการดำเนินงาน และผลลัพธ์การคุ้มครองผู้บริโภค โดยแบ่งระดับความเข้มแข็งขององค์กรคุณภาพเป็น 3 ระดับ คือ ขั้นพื้นฐาน ขั้นมีสิทธิ์ และขั้นสูง ซึ่งในวันนี้ มีองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพขั้นสูง จำนวน 19 องค์กร ซึ่งจะเป็นตัวอย่างและเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรขั้นพื้นฐานและขั้นมีสิทธิ์ ในการพัฒนาองค์กรของตนเองให้มีระบบบริหารภายในที่เข้มแข็ง ตามหลักการบริหารสมัยใหม่ ควบคู่กับการมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร (Good governance) ทั้งนี้ ในปี 2561 มีองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพ 222 องค์กร จากที่สมัครเข้าร่วมการประเมิน 300 กว่าองค์กร นับเป็นการยกระดับความก้าวหน้าของระบบคุ้มครองผู้บริโภคไทยที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง นับแต่เริ่มมี พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคใน ปี 2522 เป็นต้นมา
“องค์กรผู้บริโภคที่มีความเข้มแข็ง ถือเป็นหลักประกันสำคัญของประชาชนในด้านสิทธิผู้บริโภค ซึ่งความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมอบรางวัลในครั้งนี้ แต่กระบวนการประเมินจากหลักฐานผลงานขององค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีคุณภาพทั้งในระดับพื้นที่และระดับที่สูงกว่า เช่น จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ รวมไปถึงระดับสากล อย่างเช่นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ซึ่งเป็นตัวอย่างองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง ที่มีความร่วมมือกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับความสามารถขององค์กรผู้บริโภคภายในประเทศให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก สะท้อนความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคไทยให้เป็นที่ประจักษ์ได้อย่างดี” นพ.มงคล กล่าว
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.เห็นความสำคัญของการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลไกคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่องในฉบับปี 2540, 2550 และในมาตรา 46 ของฉบับปัจจุบัน สสส.จึงบรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและการพัฒนาระบบยาของ สสส. ตั้งแต่ปี 2555 และนับแต่ปี 2556 ได้สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายเริ่มทดลองขับเคลื่อนการทำงานขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และแกนนำคนรุ่นใหม่ ในการใช้กลไกองค์กรอิสระดังกล่าว เป็นเวทีเสนอแนะนโยบายหรือมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญๆ โดยมีข้อมูลหลักฐานวิชาการมาสนับสนุน
“ในการพัฒนาศักยภาพองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สสส. สนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกันระหว่าง ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สคบ. มวคบ. และองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนระดับภาค ทั้ง 7 ภาค พัฒนาเกณฑ์การประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น และเริ่มจัดกระบวนการพัฒนาและประเมินรับรองคุณภาพองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนทั่วประเทศ โดยมี 236 องค์กรที่สมัครเข้าร่วมการประเมิน ซึ่งองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรอง จะมีความสอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและตัวแทนภาคประชาชนร่างขึ้นตามเจตนารมณ์ในม. 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยองค์กรคุณภาพเหล่านี้จะมีโอกาสเข้าร่วมเป็นสมาชิกและร่วมขับเคลื่อนสภาองค์กรผู้บริโภคตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะมีบทบาทเสนอแนะและสนับสนุนภาครัฐให้มีการออกและบังคับใช้ กฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมถึงช่วยปกป้องคุ้มครองประชาชนจากสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ทพ. ศิริเกียรติ กล่าว
สำหรับองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง ประจำปี 2561 จำนวน 19 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา, มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จังหวัดลําปาง, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จังหวัดลําพูน, ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดหนองบัวลําภู, สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น, สมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด, สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก, ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดอ่างทอง, สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม, สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก, ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี, สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี, เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกระบี่, สมาคมประชาสังคมชุมพร, สมาคมผู้บริโภคสงขลา, สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี และ เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล