หนุนวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน
แฟ้มภาพ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนา ระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12 โดยมีการเสวนาเรื่อง “การจัดการครึ่งทางทศวรรษและบทเรียนการจัดการที่เข้มแข็งจากต่างประเทศ”
เป้าหมายสำคัญของการจัดการสัมมนาในครั้งนี้ เนื่องมาจากอุบัติเหตุจราจรอันเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บการสูญเสียชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการสูญเสียมากยิ่งขึ้นหากไม่มีมาตรการ ในการแก้ไขและป้องกัน
ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)บอกถึงงานวิจัย ด้านการติดตามและประเมินผลจากการปฏิบัติตามแผนงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนว่า "สิ่งที่พยายามพูดถึงกันในวันนี้คือจำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา ยังไม่มีตัวเลขที่ตรงกัน ฉะนั้นการได้รับข้อมูลหรือจำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่แน่นอนจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบาย ที่ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วมีจำนวนตัวเลขการเสียชีวิต เท่าไหร่ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแบบใด ประมาท สภาพของรถที่ใช้ หรือจุดเสี่ยงกันแน่เพื่อให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบัน"
การที่จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้การกำหนดทิศทางหรือนโยบายเรื่องความปลอดภัยทางถนนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ชัดเจนในการทำหน้าที่เรื่องระบบข้อมูล หากเราสามารถมีหน่วยงานมาทำงานและเก็บข้อมูลเป็นระบบ จัดสรรงบที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้สามารถวิเคราะห์ปัญหา รู้ว่าจะต้องเสนอแนะ หรือแก้กฎหมายแบบไหน อย่างไร
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ย้ำว่า "ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย อาจต้องดูในส่วนของ 1.อัตราโทษ 2.รูปแบบการบังคับใช้ และ 3.ประสิทธิภาพของการ บังคับใช้ เพราะหากอัตราโทษต่ำเกินไป การจับกุมของ เจ้าหน้าที่ก็จะไม่มีผล และไม่ทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่สำคัญจะต้องมีกระบวนการลงโทษผู้ที่กระทำผิดซ้ำ เพราะในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงบนถนนเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่มาก ซึ่งระบบการตัดแต้มใบขับขี่ และเพิ่มโทษคนกระทำผิดซ้ำควรถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมไม่ให้มีคนกลุ่มนี่อยู่บนท้องถนน เมื่อคนบนท้องถนนมีคุณภาพดีขึ้น อุบัติเหตุก็จะลดลงได้ในขณะที่คนทั่วไป 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะมีพฤติกรรมการขับขี่ดีอยู่แล้ว" นักวิชาการ สถาบันวิจัยฯ บอกว่าขณะที่ใน ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จนั้น มีการบังคับใช้กฎหมาย ที่เข้มงวด และมีการปรับปรุงมาตรฐานรถ โดยเฉพาะอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ เช่น เข็มขัดนิรภัยตอนหลัง ระบบเบรกที่ดีขึ้นอุปกรณ์ช่วยควบคุมการทรงตัวของรถยนต์ ซึ่งหลายประเทศกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับให้รถทุกคันต้องมี ขณะที่ประเทศไทยยังมีค่อนข้างน้อยทำให้ต้องมาพิจารณากันว่าควรมีการเพิ่มมาตรฐานบังคับเหล่านี้หรือไม่
นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แสดงทัศนะว่า เราต้องเร่งควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงใน 10 เรื่องที่มักจะเกิดอุบัติเหตุ เป็นประจำคือ1.การไม่สวมหมวกนิรภัย 2.สภาพของ ยานพาหนะไม่ปลอดภัย 3.ขับขี่รถด้วยอาการเมาสุรา 4.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5.ไม่มีใบขับขี่ 6.ขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกำหนด 7.ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรต่างๆ 8.การขับรถย้อนศร 9.การแซงในที่คับขัน และ 10.การใช้ โทรศัพท์ขณะขับรถ สำหรับแนวทางป้องกันแก้ไขต้องพยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการจัดตั้งจุดตรวจในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น บริเวณสี่แยกต่างๆ เป็นต้น
นายกอบชัย บอกทิ้งท้ายว่าปัจจัยสำคัญคือ ถนน คน รถ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าบริหารจัดการได้จะ ช่วยลดอัตราการสูญเสียได้มาก ขณะเดียวกันต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และต้องให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุลงไปได้มาก
ด้วยเหตุนี้ การจัด การสัมมนาในเรื่องของความปลอดภัยในครั้งนี้ จึงเป็น การปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุและการมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ