หนุนพลังจิตอาสาคนรุ่นใหม่ ผนึกภาคีเปลี่ยนแปลงสังคม

สถานการณ์ของเด็กและเยาวชนปัจจุบันมีความรุนแรงและความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เด็กหนึ่งคนมีปัญหามากกว่าหนึ่งถึงสองเรื่องส่งผลให้เยาวชนไม่สามารถปรับตัวได้และกลายเป็นปัญหาทางสังคม รวมถึงความปลอดภัย ความรุนแรง ปัญหาครอบครัว ยังมีผลกระทบจากสื่อและความเสี่ยงอื่นๆ เข้ามาและนับวันเรื่องดังกล่าวจะมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมจึงได้จัดอบรมเยาวชนภายใต้ “โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (คพส.)” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมเหล่านั้นเดินทางไปเรียนรู้และปฏิบัติภารกิจจิตอาสาในพื้นที่จริง

น.ส.สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ในลุ่มน้ำโขง มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า เราริเริ่มกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. โดยตั้งโจทย์ควรมีเวทีสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคม                                            

โดย เป้าหมายคือ อยากสร้างแกนนำคนรุ่นใหม่ลงไปทำงานขับเคลื่อนพัฒนาองค์กรในชุมชน และสร้างเครือข่ายแกนนำเยาวชนที่มาจากในแต่ละพื้นที่ เพื่อหวังว่าจะขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะในอนาคตรวมทั้งคิดค้นงานยุทธศาสตร์ ร่วมกับองค์กรที่ทำงานด้านเยาวชน โดยกำหนดว่าคนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้จะต้องมี 1.เครือข่ายที่ชัดเจน 2.มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อเยาวชน 3.มีประสบการณ์ทำงานเพื่อสังคม 4.ต้องอยู่ครบกระบวนการ

 “เราพบว่าปัญหาในสังคม ปัญหาเยาวชนค่อนข้างจะสลับซับซ้อนมาก และมันถึงเวลาที่ต้องสร้างแกนนำในคนรุ่นใหม่สักกลุ่มหนึ่งมาทำงาน มาร่วมกันขับเคลื่อนกับองค์กรที่ทำงานด้านเยาวชน”

ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า หลังจากได้โครงการแล้ว เราได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านเครือข่าย มีการส่งใบสมัครเข้ามา โดยเจ้าหน้าที่จาก สสส.เป็นผู้คัดเลือก มีคนเข้าร่วมโครงการ 40 คนจากทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 18-30 ปี สำหรับระยะเวลาทำโครงการ1 ปีจะได้เรียนรู้ และมีการลงพื้นที่ในประเทศไทยและต่างประเทศในแถบอาเซียน ไปเรียนรู้ว่าเยาวชนเจอปัญหาใดบ้าง และเยาวชนในประเทศนั้นๆ ทำอะไรได้บ้าง จะร่วมมือทำอะไรกันได้ และเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้จะสามารถสร้างแกนนำขึ้นมาได้

ศิริพร  ฉายเพ็ชร จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กล่าวว่า โครงการนี้สามารถพัฒนาคุณสมบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม และสามารถรับรู้ว่าสังคมมันเกิดอะไรขึ้น เกิดมาจากปัญหาใด ไม่ใช่ด่วนตัดสิน ต้องมีมิติในการวิเคราะห์ ให้มองสถานการณ์ตามจริง                                                                                                           ความคาดหวังของโครงการก็คือ เยาวชนเหล่านี้จะได้เรียนรู้ และได้ทบทวนชีวิตตัวเองเรียนรู้อดีตและเชื่อมโยงกับคนอื่นได้เราก็จะได้รู้ว่าเส้นทางข้างหน้าที่จะไปควรจะไปทางไหน มีความเข้าใจกับสังคมยังไง สังคมที่ดีนั้นก็ต้องร่วมกัน ก็หวังว่าเขาจะเข้าใจหน้าที่ร่วมในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง                                                                                  เราเชื่อมั่นว่าคนหนุ่มสาวทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องคนจนและเข้าใจเพื่อสามารถนำไปทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ กิจกรรมที่คนเข้าร่วมโครงการทำก็คือ มีการลงแรงร่วมมือร่วมใจกับชาวบ้าน อาทิ การทำงาน ปลูกพืชผักสวนครัว ทำแปลงเกษตร คนเร่ร่อนสามารถปรับเปลี่ยนมาทำกิจกรรมดังกล่าวและหันมาพึ่งพาตนเองได้” ศิริพร ระบุ

น.ส.ภนิชา โตปฐมวงศ์ หรือต่าย อายุ 24 ปี จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการดูงานของกลุ่มเกสรลำพู ย่านบางลำพู กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนจะแนะนำเด็กๆ ในชุมชนและช่วยเด็กมัธยมปลายในประเทศไทยให้รู้จักตัวเอง รู้ว่าอยากเรียนคณะอะไร เพื่อที่จะสามารถเลือกเรียนคณะที่ตนเองมีศักยภาพที่จะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้

เพราะเด็กไทยจำนวนมากเลือกเรียนสิ่งที่ตนไม่ต้องการและไม่ชอบ แล้วไม่มีความสุข เวลาจบมาก็ไม่สามารถทำงานในตำแหน่งนั้นได้ เราก็เลยทำโครงการที่ส่งเสริมเด็กให้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักอาชีพต่างๆ โดยการไปลองติดตามอาชีพจริงๆ ในที่ทำงานจริงเป็นเวลา 2 อาทิตย์นี่คืองานที่กำลังทำอยู่

สาเหตุที่มาเข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการเสริมประสบการณ์ ความรู้ ทักษะของตนเองเรื่องการจัดกิจกรรมของตนเอง เปิดมุมมองใหม่ๆ ด้วย และมีกิจกรรมดีๆ ให้เราได้ทบทวนตัวเอง ได้ฝึกตัวเองทั้งทักษะภายนอกและภายใน ให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

น.ส.อัจฉรา แก้วมาศ หรือน้องเมย์ อายุ 21 ปี จากสถาบันชุมชนอีสาน จังหวัดมหาสารคาม มีความสนใจในโครงการนี้ก็เพราะว่า อยากจะพัฒนาตนเองเรื่อยๆไม่อยากหยุดกับที่ เนื่องจากเมื่อก่อนตัวเองจะสนใจแต่เรื่องเรียนอย่างเดียวไม่กล้าแสดงออกได้เข้ามาร่วมโครงการนี้ก็รู้สึกดี เพราะไม่เคยเห็นองค์กรที่ทำงานสาธารณประโยชน์จริงๆ และจะนำเอาความรู้ไปใช้ในศูนย์เรียนรู้ชุมชน สามารถนำขยายบอกต่อและเล่าสู่กันฟังในกลุ่ม

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรงก็คือ สามารถจัดระบบทางความคิดได้ ทำให้จัดการตัวเองรู้ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ และจะพัฒนาตนเองให้ดีก่อนแล้วถึงจะนำไปพัฒนาคนอื่นด้วย” น้องเมย์ กล่าวอย่างภูมิใจ

หวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ และสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้สู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนและองค์กรภาคีให้เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Shares:
QR Code :
QR Code