หนุนปั้นเยาวชนนักวิทยาศาสตร์ช่วยปัญหาชุมชน

 

นักวิชาการไบโอเทคเผย สสส.ร่วมหนุนพัฒนาศักยภาพครูต้นแบบและนักเรียน มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1 หมื่นคน อีกทั้งเชื่อมโยงกลไกในท้องถิ่นเข้าด้วยกันช่วยพัฒนาชุมชน

นักเรียนเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์

นายชายกร สินธุชัย นักวิชาการศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้จัดโครงการ (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า กล่าวว่า จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และไบโอเทค ร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาผ่านการทำกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2550-2555 พบว่า โครงการได้การพัฒนาศักยภาพครูต้นแบบและนักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ สิ่งแวดล้อม โภชนาการ สุขลักษณะในโรงเรียน การฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาร่วมเครือข่ายกว่า 250 โรงเรียน มีนักเรียนร่วมกิจกรรมกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งจากนี้ไปโครงการจะเน้นกิจกรรมพัฒนา โดยเชื่อมโยงกับกลไกที่มีอยู่ในชุมชน อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ให้มากขึ้น

นายชายกร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้โครงการยังได้รวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่ชุมชนขาดหายไปให้กลับมา เช่น โครงการเสื้อชูชีพจากผักตบชวาโรงเรียนนครไทย จ.พิษณุโลก ที่ผนวกระหว่างแนวทางจำกัดขยะในชุมชนกับความคิดสร้างสรรค์เตรียมความพร้อมรับมือปัญหาอุทกภัย โดยมีหน่วยงานในท้องถิ่นให้การสนับสนุน โครงการคอนโดเพาะถั่วงอกระบบหยดน้ำที่มีแรงขับเคลื่อนมาจากความต้องการของชุมชน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากร้านค้าในโรงเรียนและในชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการได้องค์ความรู้ที่หลากหลายที่มีสาระด้านวิทยาศาสตร์เป็นตัวหลัก แต่ความสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

นางวัชรีย์ เหมืองจา อาจารย์โรงเรียนถิ่นโอภาสวิทยา จ.แพร่ กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ระยะแรกเมื่อปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ได้รับแนวทางการสร้างทักษะด้านวิทยาศาสตร์นำไปสอนให้นักเรียนมีพัฒนาการมากขึ้น เช่น นำไปใช้ในการบวนการเรียนการสอนพัฒนาความคิดของนักเรียน เพราะกิจกรรมไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์อย่างเดียว แต่มุ่งศึกษากระบวนการแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

 
 
 
ที่มา:คมชัดลึก
 
Shares:
QR Code :
QR Code