หนุนบทบาทนักกายภาพบำบัด ส่งต่อความรู้สร้างสุขภาวะดี
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. จับมือสภากายภาพบำบัด เสริมศักยภาพนักกายภาพทั่วประเทศ พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ-สู้ NCDs แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานในพื้นที่-ต่อยอดกายภาพสู่สร้างเสริมสุขภาพ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สภากายภาพบำบัด สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย และสภาสถาบันการศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมอบรมวิชาการเรื่องบทบาทนักกายภาพบำบัดสร้างเสริมสุขภาพในสังคมผู้สูงอายุ โดยมีนักกายภาพบำบัดและอาจารย์กายภาพบำบัดจากทั่วประเทศ เข้าร่วมการอบรมกว่า 450 คน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพในสังคมผู้สูงอายุ ระหว่างเครือข่ายนักกายภาพบำบัดกับผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักกายภาพบำบัดได้รับแนวคิด ความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุมากขึ้น
“นักกายภาพบำบัด นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ในการบำบัดร่างกายของผู้ป่วยแล้ว ยังสามารถสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย และจิตใจรวมถึงการป้องกันโรค ให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย สสส. สภากายภาพบำบัดและภาคีเครือข่าย เห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้มีการพัฒนาสมรรถนะการปฏิบัติงาน ด้านสร้างเสริมสุขภาพของนักกายภาพบำบัด ให้มีความสามารถในการสนับสนุนส่งเสริม ในการส่งต่อความรู้ การดูแลตนเองให้กับบุคคลครอบครัว ชุมชน และสังคม ได้มีความรู้ความสามารถในการควบคุมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง และสร้างสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีของประชาชนได้อย่างยั่งยืน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า การอบรมในครั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำงานสร้างเสริมสุขภาพของนักกายภาพบำบัด ผ่านงานในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเด็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อาทิ การออกกำลังกายเพื่อป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาพปรับการกินเพิ่มกิจกรรมทางกาย เพื่อห่างไกลโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง การสร้างเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง เบาเค็ม อ่อนหวาน ต้านโรคหลอดเลือดสมอง การดูแลสุขภาพอายุรักษ์ไต ใส่ใจสุขภาพ การจัดการข้อเข่าเสื่อมด้วยตนเอง รวมไปถึงการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันภาวะไหล่ติดในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแผนพัฒนาบทบาทนักกายภาพบำบัด ในงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกของโรงพยาบาลชั้นนำจาก 17 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นการต่อยอดงานกายภาพกับการสร้างเสริมสุขภาพที่นำไปสู่การปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่5