หนุน’ธนาคารต้นไม้’สร้างชุมชนแก้วิกฤติ
สร้างรากฐานให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็งถึงจะอยู่รอดได้
ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการประชุมวิชาการเรื่อง “ทางออกวิกฤติสยามด้วยยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง” โดย นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการแก้มหาวิกฤตการณ์สยาม” ว่าการแก้วิกฤติชาติต้องมียุทธศาสตร์เพราะวิกฤติชาติครั้งนี้รุนแรงมากเป็นมหาวิกฤติสยาม แม้แต่อเมริกายังหวั่นไหวกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากมิจฉาทิฐิของการพัฒนา หรือการพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่ระดับบน โดยเปลี่ยนทรัพยากรทุกชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ของคนส่วนน้อย เช่น การทำลายทรัพยากรป่าไม้กว่า 220 ล้านไร่ ซึ่งเป็นการทำลายเศรษฐกิจของคนจน แล้วถูกเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์ของคนส่วนน้อย ทำให้เกิดช่องว่างและเกิดปัญหาตามมา
“เราต้องหมุนกลับไปหนุนข้างล่าง คือ การสร้างรากฐานให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง เพราะเรามีจุดแข็งเรื่องการผลิตอาหารไม้ว่าจะเผชิญวิกฤติอย่างไรก็สามารถอยู่รอดได้ โดยชุมชนท้องถิ่นจะสามารถดูดซับคนตกงานเพราะมีฐานทรัพยากรที่สำคัญซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่นายกรัฐมนตรีกำลังจะประกาศนโยบายธนาคารต้นไม้ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นผู้ออกพันธบัตร และกำลังเสนอโครงการนี้ให้รัฐบาลพิจารณา เพราะมีการคำนวณตัวเลขว่า หาก 5,000 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้ครอบครัวละ 1,000 ต้น ก็จะได้ต้นไม้ถึง 5,000 ล้านต้น ซึ่งต้นไม้ 1 ต้นจะทำประโยชน์ได้ถึง 10,000-40,000 บาท การปลูกต้นไม้จึงถือเป็นเงินบำนาญที่มีมูลค่า” ราษฎรอาวุโสระบุ
นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า วิธีที่จะทำให้ท้องถิ่นเกิดพลังจะต้องมีการสร้างเป้าหมายร่วมกัน 10 ประการคือ1.สร้างจิตสำนึกใหม่ด้วยการเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตัวเอง 2.สร้างสังคมเข้มแข็งจากการร่วมกันคิดร่วมกันทำ 3.สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง โดยยึดเศรษฐกิจจริงจากการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ด้วยการไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ 4.สร้างระบบสวัสดิการสังคม 5.อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม 6.พัฒนาโครงสร้างทางภายภาพและพลังงานชุมชน 7.ความปลอดภัยความยุติธรรม และสันติภาพ 8.ระบบการสื่อสารของชุมชน 9.ระบบสุขภาพชุมชน และ 10.การศึกษาของท้องถิ่นที่ต้องเป็นการศึกษาของคนทั้งมวล เอาชีวิตจริงปฏิบัติจริงเป็นตัวตั้ง และเกิดผลดีกับท้องถิ่น.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 25-03-52