หนุนชาวบ้าน ต.หัวรอ แยกขยะขาย-ชุมชนสะอาด

ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์ 


หนุนชาวบ้าน ต.หัวรอ แยกขยะขาย-ชุมชนสะอาด thaihealth


สสส.หนุนชาวบ้าน ต.หัวรอ เป็นหมู่บ้านนำร่อง แยกขยะขาย-ชุมชนสะอาด ขจัดวิกฤตปัญหาขยะ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จัดโครงการร่วมสร้างท้องถิ่นและชุมชนให้น่าอยู่ โดยการคัดแยกขยะในครัวเรือน ด้วยวิธีกระบวนการจัดการ และความร่วมมือของชุมชน และภาคีเครือข่าย ที่ต้องการแก้ปัญหาขยะในชุมชน มีการสำรวจขยะ จัดทำโครงการให้ความรู้ นำขยะมาแปรรูปเป็นของใช้ชนิดต่าง ๆ และส่วนหนึ่งนำมาคัดแยกขายให้กับบริษัท วงษ์พาณิชย์ พร้อมกับนำขยะสดมาทำน้ำหมักชีวภาพใช้ในครัวเรือน โดยมีชุมชนบ้านสะโคล่ ม.7 ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นหมู่บ้านนำร่อง


นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศบาลตำบลหัวรอ กล่าวว่า ในช่วงปี 56-57 สถานที่ทิ้งขยะของเทศบาลตำบลหัวรอเกิดวิกฤต ทางเทศบาลจึงต้องพยายามจัดการขยะโดยปลูกจิตสำนึก ทั้งนี้ได้งบสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สสส. จึงได้ส่งตัวแทนชุมชน ม.2, ม.7, ม.10 ตำบลหัวรอ เข้าไปศึกษาดูงาน ให้มีความรู้ในการสร้างเครือข่ายประชาชน เกี่ยวกับการจัดการขยะด้วยตนเอง จนกลายเป็นชุมชนที่เข็มแข็ง ทั้งนี้ภาคเอกชน และภาครัฐ รวมถึงประชาชนได้ให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะตามบ้านของตนเอง และทุกวันที่ 16 ของเดือน ก็จะนำขยะในครัวเรือน ไปขายที่จุดรับซื้อขยะของบริษัทวงษ์พาณิชย์ ทำให้พื้นที่ของเทศบาลตำบลหัวรอ จากเดิมที่วิกฤตปัญหาขยะอย่างหนัก มีขยะจรและขยะในชุมชน เฉลี่ยมากถึงวันละ 27-30 ตัน แต่หลังจากที่มีการจัดการขยะเข้ามาปัญหาขยะในพื้นที่ ลดลงถึง 60-70% นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งนี้จะมีการขยายชุมชนเข็มแข็งในเรื่องของการจัดการขยะภายในครัวเรือนนี้ ออกไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ของเทศบาลตำบลหัวรอ ให้ร่วมกันจัดการคัดแยกขยะจากในครัวเรือนของตน ให้กลายเป็นชุมชนเข็มแข็งทั่วพื้นที่


ด้านนางวิไลวรรณ กรเวก อยู่บ้านเลขที่ 122/20 ม.7 บ้านสระโคล่ ตำบลหัวรอ ผู้ชนะเลิศโครงการคัดแยกขยะภายในครัวเรือน ของคุ้มร้อยใจเป็น 1 เดียว เปิดเผยว่า ได้เริ่มจัดการคัดแยกขยะมาก่อนหน้านี้สักระยะ จนต่อมา ทางเทศบาลตำบลหัวรอ และ สสส.ได้เข้ามาสนับสนุนส่งไปศึกษาดูงานเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน จึงเริ่มนำกลับมาใช้ในครัวเรือนในชีวิตประจำวัน และทุก ๆ วันที่ 16 ของเดือน ก็จะนำขยะภายในครัวเรือนที่ทำการคัดแยกไว้ขายที่จุดรับซื้อขยะ ส่วนขยะประเภทเปียก ก็จะนำมาทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ใช้รถพืชผักสวนครัวภายในบ้าน นับว่าการจัดการคัดแยกขยะนั้น มีแต่ข้อดี เพราะนอกจากขายได้เงินมาใช้จ่ายในครัวเรือนแล้ว ภายในบ้านยังสะอาดไม่รกหูรกตาอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code