หนุนชายรักชายใช้’ถุงอนามัยสตรี’
ทางเลือกใหม่ทนทานกันเอดส์พุ่ง
กรมควบคุมโรคแนะกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายใช้ถุงอนามัยสตรีข้อดีเพียบทนทานฉีกขาดและหลุดเลื่อนยาก ด้านกรมวิทย์ฯเปิดโครงการเรียนรู้นอกตำราพิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย ช่วยเสริมสร้างความรู้ หวังแก้เอดส์ท้องก่อนวัย เผยคนไทยฮิตถุงยางขนาดบิ๊กไซส์ 52 มม. ขณะที่วัยโจ๋นิยมซื้อ 32 มม.ผ่านเว็บ
นพ.สมยศ กิตติมั่นคง หัวหน้ากลุ่มโรคเอดส์สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมีเพิ่มมากขึ้นจากเดิม มีสัดส่วนการติดเชื้อ 17% ในปี 2546 เพิ่มเป็น 28% ในปี 2548 และยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2550 สัดส่วนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 32% กรมควบคุมโรคจึงได้หามาตรการใหม่ๆ เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ล่าสุดถุงอนามัยสตรี เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันที่ได้ผล
“ถุงอนามัยสตรีเริ่มแรกมีการนำมาใช้กับกลุ่มสตรี เพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกันโรคเอดส์ แต่ปัจจุบันยังสามารถป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้ และถุงอนามัยสตรีจะมีความทนทานมากกว่าถุงยางอนามัย มีอายุการใช้งาน 5 ปีหลังจากวันผลิต สามารถใส่ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ได้นานถึง 8 ชั่วโมงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ร้อยละ 97.1 และประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับถุงยางอนามัย คือ 5 ต่อ 3 มีโอกาสเสี่ยงต่อการฉีกขาดและหลุดเลื่อน 2.7 ต่อ 8.1″ นพ.สมยศกล่าว
“สำหรับผู้ที่ต้องการทดลองใช้ถุงอนามัยสตรี สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์www.aidsthai.org ซึ่งมีการแจกถุงอนามัยสตรี สำหรับผู้ชายให้ทดลองใช้ได้ฟรี โดยไม่คิดมูลค่า” นพ.สมยศกล่าว
นพ.สมยศ กล่าวด้วยว่า ส่วนของการใช้ถุงยางอนามัย จากการลงพื้นที่แจกถุงยางอนามัยนั้นพบว่าประชาชนมีความต้องการใช้ถุงยางอนามัยในขนาดที่ใหญ่ขึ้น จากเดิมนิยมใช้ขนาด 49 มม. ก็กลายมาเป็นความต้องการใช้ในขนาด 52 มม.นอกจากนี้ยังพบว่า ขณะนี้มีการเปิดบริการเว็บไซต์จำหน่าย ถุงยางในขนาด 32 มม. ซึ่งกลุ่มที่ใช้นั้นเป็นกลุ่มเด็กวัยมัธยม
ส่วนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเรียนรู้นอกตำรา“ถุงยางอนามัยดี มีคุณภาพ (สากล)”และเปิดพิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัยโดย ดร.พรรณสิริกล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้คนไทยใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง ตลอดจนสร้างทัศนคติที่ดีของการใช้ถุงยางแก่ผู้ที่อยู่ในวัยเหมาะสมแก่การใช้ด้วย ส่วนพิพิธภัณฑ์จะช่วยให้ผู้เยี่ยมชมมีโอกาสได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนของการทดสอบมาตรฐานของถุงยางอนามัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เปิดห้องปฏิบัติการทดสอบถุงยางอนามัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการทดสอบมาตรฐานของถุงยางจากร้านขายยาผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานราชการในช่วงปีงบประมาณ 2551-2553 พบผ่านมาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 99
ด้าน นางนิภา ศรีบรรทัดทอง พนักงานห้องปฏิบัติการตรวจสอบการรั่วซึมของถุงยางอนามัย กล่าวว่าในการตรวจสอบการรั่วซึมในถุงยางแต่ละตัวอย่างนั้นจะตรวจครั้งละ ประมาณ 315 ชิ้น โดยหากพบว่ามีการรั่วซึม 3 ชิ้นขึ้นไปจะแจ้งผลแก่ผู้ประกอบการให้ดำเนินการแก้ไขและส่งตรวจสอบอีกครั้งจนกว่าจะเข้ามาตรฐานที่กำหนด
ที่มา: หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการรายวัน
update:28-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ