หนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา ระยะ 2 ส่งต่อความรู้ กระตุ้นสังคมใช้ยาอย่างเหมาะสม

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจาก สสส.


หนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา ระยะ 2 ส่งต่อความรู้ กระตุ้นสังคมใช้ยาอย่างเหมาะสม  thaihealth


อึ้ง!!!  คนไทยดื้อยาตาย  4  หมื่นคน/ปี  เหตุใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น  แถมโควิด-19  ซ้ำ  คนเข้าใจผิดยาฆ่าเชื้อไวรัสได้  สสส.-กพย.  เร่งหนุน  สธ.-อย.  จัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการดื้อยา  ระยะ  2  ขยายความร่วมมือเครือข่ายวิชาการ-ภาคประชาสังคม  ส่งต่อความรู้-กระตุ้นสังคมใช้ยาเหมาะสม  หยุดภัยเชื้อดื้อยา


 


หนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา ระยะ 2 ส่งต่อความรู้ กระตุ้นสังคมใช้ยาอย่างเหมาะสม  thaihealth


ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม  นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  เนื่องในระหว่างวันที่  22-30  พฤศจิกายน  2564   เป็นช่วงสัปดาห์สร้างความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลกของประเทศไทย ปี  2564  ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา  20,000-40,000  คนต่อปี  ซึ่งเชื้อดื้อยา เกิดจากการพัฒนาตนเองของเชื้อเมื่อเจอยาปฏิชีวนะ  สาเหตุเกิดจากการใช้ยามากเกินความจำเป็น  ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ประโยชน์จากยา  หากดื้อยาไม่มาก  ต้องเปลี่ยนยาที่มีราคาแพงขึ้นและใช้เวลารักษานานขึ้น  อาการป่วยที่มีอาการน้อยก็จะมีอาการป่วยมากขึ้น  อาจทำให้กลายเป็นผู้พิการหรือถึงขั้นเสียชีวิต  การใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมคือ  เมื่อติดเชื้อหายแล้วต้องหยุดยา บางอาการไม่ต้องใช้ยา  อาทิ  ไข้หวัด  อาการปวดบวมอักเสบ  ท้องเสีย แผลสด  ซึ่งหากร่างกายได้รับยาที่ไม่เหมาะสมหรือใช้ยาเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการดื้อยาโดยไม่จำเป็น


 


หนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา ระยะ 2 ส่งต่อความรู้ กระตุ้นสังคมใช้ยาอย่างเหมาะสม  thaihealth


นายชาติวุฒิ  วังวล  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวว่า  ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาระดับโลก  มีการคาดการณ์ว่าหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา  ในปี  2593  ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง  10  ล้านคน  ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง  4.7  ล้านคน   สสส.  เห็นความสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้น  จึงร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  (กพย.)  คณะเภสัชศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พัฒนากลไกเฝ้าระวังและจัดการความรู้ปัญหาเชื้อดื้อยา  ผลักดันให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยา ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศ  เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี  ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ  ดำเนินการตั้งแต่ปี  2556  โดยพัฒนาสื่อรณรงค์เรื่องเชื้อดื้อยา  เผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อกระแสหลัก  ทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้และเข้าใจสูงถึง  ร้อยละ  82 


“ขณะนี้  สสส.  และภาคีเครือข่าย  อยู่ระหว่างเร่งการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย  โดยร่วมสนับสนุนการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข  และองค์การอาหารและยา  (อย.)  ในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย  ระยะที่  2  พ.ศ.  2566-2570  ให้แล้วเสร็จ  เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20  ปี  โดยเน้นสร้างความร่วมมือกับภาควิชาการและภาคประชาสังคม  ได้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเฝ้าระวังและควบคุมปัญหาเชื้อดื้อยา  มุ่งเป้าสร้างสุขภาวะผ่านการใช้ยาที่เหมาะสม  หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น  ลดวิกฤตสุขภาพของคนไทย”  นายชาติวุฒิ  กล่าว


 


หนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา ระยะ 2 ส่งต่อความรู้ กระตุ้นสังคมใช้ยาอย่างเหมาะสม  thaihealth


ผศ.ภญ.ดร.นิยดา  เกียรติยิ่งอังศุลี  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  (กพย.)  กล่าวว่า  สถานการณ์การระบาดของโควิด-19  พบปัญหาการเป็นไข้หวัดน้อยลง  เนื่องจากประชาชนมีสุขอนามัยที่ดี  แต่ยังพบปัญหาเชื้อดื้อยา  เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้ในการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง  ทั้งเข้าใจผิดว่ายาปฏิชีวนะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้  รวมถึงโควิด-19  ด้วย  มีการเข้าถึงยาปฏิชีวนะจากช่องทางที่ไม่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น ทั้งกระบวนการแจกจ่ายยาปฏิชีวนะของคนในชุมชน  และร้านขายของชำที่ทำผิดกฎหมาย  ลักลอบจำหน่ายยาปฏิชีวนะโดยไม่ได้รับอนุญาต  ทำให้การรณรงค์เรื่องอันตรายของเชื้อดื้อยาเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน  กพย.  จึงร่วมกับ  สสส.  และภาคีเครือข่าย  เร่งขยายความร่วมมือกับเครือข่ายภาควิชาการ และภาคประชาสังคม  โดยร่วมกับ  อย. จัดประชาพิจารณ์ร่างประเด็นยุทธศาสตร์แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาจุลชีพประเทศไทย  ระยะที่  2 


 


หนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา ระยะ 2 ส่งต่อความรู้ กระตุ้นสังคมใช้ยาอย่างเหมาะสม  thaihealth


 


ทั้งนี้  ภายในงานสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลกของประเทศไทย  ปี  2564  มีกิจกรรมอีกมากมาย  โดยแบ่งเป็น  3  กิจกรรมย่อย  ได้แก่  1. การทำประชาพิจารณ์ร่างประเด็นยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย  ระยะที่  2  (พ.ศ.  2566-2570)  2. การสร้างความตระหนักรู้ด้านเชื้อดื้อยาโดยภาคประชาชน  และ  3. การสร้างความตระหนักรู้ด้านการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในสัตว์  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่  22 – 30  พฤศจิกายน  2564   สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับงานได้ที่เว็บไซต์    https://www.eventdee.com/amr/    และเฟซบุ๊กแฟนเพจ  Antibiotic Awareness Thailand

Shares:
QR Code :
QR Code