หนุนขึ้นภาษีอาหารไร้คุณภาพ
พฤติกรรมการบริโภคอาหารขยะ เหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ใช้มาตรการขึ้นภาษีอาหารไร้คุณภาพ หวังเป็นแนวทางป้องกันโรคอ้วน
ในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ สิ่งที่ควรทำควบคู่กับปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ก็คือเรื่องสุขภาพ ที่ขณะนี้ได้สร้างปัญหาและฆ่าคนไทยไปอย่างเงียบๆ มานานแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อให้รสชาติความอร่อย แต่แฝงไปด้วยโทษภัยมหาศาล นำมาซึ่งความอ้วน บ่อเกิดของโรคร้าย อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต และหากใครเป็นแล้วรับรองว่ายิ่งกว่าตกนรกทั้งเป็น เจ็บกาย ใจ แก่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิด ไม่นับรวมค่ารักษาพยาบาลจำนวนมหาศาล
สถานการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรา แต่ได้ลุกลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ ที่พบประชาชนบริโภคอาหารเกินมาตรฐานและมีพลังงานสูง และทำกิจกรรมทางร่างกายลดลง ส่งผลให้คนทั่วไปมีอัตราน้ำหนักเพิ่มขึ้น 8-10 กิโลกรัมในช่วง 10-18 ปี ขณะที่เด็ก 1ใน 10 คนจะต้องมีคนอ้วนรวมอยู่ด้วย
หลายประเทศทั่วโลกได้ใช้แนวทางป้องกันโรคอ้วน ด้วยมาตรการเรื่องภาษีสำหรับอาหารที่ไร้คุณภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยากเป็นผลสำเร็จมาแล้ว หลายประเทศ เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพิ่มราคาน้ำอัดลมขึ้น 10% ทำให้มีการดื่มน้ำอัดลมลดลง 8.1%
ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ สิงคโปร์ เอกวาดอร์ ก็มีการเก็บภาษีในเครื่องดื่มและอาหารขยะ ก็ทำให้คนบริโภคอาหารดังกล่าวลดลงด้วย อย่างเช่น ประเทศเม็กซิโก จากเดิมพบประชากรมีอัตราการดื่มน้ำอัดลมต่อหัวสูงมาก ขณะที่คนอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่คือเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มที่ยากจน โดยต้นปี 2557 ได้ออกกฎหมายขึ้นภาษีอาหารจังก์ฟู้ดและเครื่องดื่มให้ความหวาน ปรากฏว่าคนบริโภคอาหารดังกล่าวลดลง ทำให้ความเสี่ยงโรคอ้วนน้อยตามไปด้วย
กลับมาที่เป็นประเทศไทย ก็เคยมีนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศต้องการผลักดันเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถูกต่อต้านจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านธุรกิจอาหารที่กลัวเสียผลประโยชน์จากยอดขาย แต่ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ จึงถือโอกาสและความหวังสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ช่วยรณรงค์ให้สังคมเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวนี้ ก็เชื่อว่าหากมีความจริงจังจะเป็นผลสำเร็จ และช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยสารพัดโรคเหล่านั้นได้
ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี นักวิชาการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ภาคี สสส. กล่าวว่า น้ำตาลในน้ำอัดลมเป็นแหล่งพลังงานส่วนเกินที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วนของคนไทย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับโรคหลายชนิด เช่น โรคฟันผุ กระดูกกร่อน โดยในน้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบประมาณ 10-14 ช้อนชา
น้ำอัดลมทุกกระป๋องจึงเพิ่มโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ร้อยละ 1-2 ประกอบกับเด็กในปัจจุบันมักไม่ค่อยออกกำลังกาย แต่ติดเกม โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งกินขนม นมหวาน นมเปรี้ยวและน้ำอัดลม มากเกินกว่าที่ควร ซึ่งทำให้มีไขมันสะสมและเป็นโรคอ้วนได้ง่าย
ในขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลชี้ให้เห็นว่า ในปี 2540 คนไทยมีปริมาณเฉลี่ยการบริโภคน้ำตาล 19.3 ช้อนชาต่อวัน มีแนวโน้มปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเฉลี่ยเพิ่มเป็น 23.1 ช้อนชาต่อวัน ในปี 2553 อีกทั้งสัดส่วนของการบริโภคน้ำตาลทางอ้อมมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากร้อยละ 28.9 ในปี 2540 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45.6 ในปี 2553
"ปัจจุบันประเทศไทยคิดภาษีเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำผลไม้ โดยเก็บจากราคาประเมินหรือปริมาณ หากคำนวณแล้วแนวทางใดสูงกว่าจะใช้แนวทางนั้น และยังมีบางประเภทได้รับการยกเว้นภาษี โดยเฉพาะชาเขียวที่มีปริมาณน้ำตาลสูง แต่ความจริงแล้ว ผลกระทบจากเครื่องที่เติมน้ำตาลสูงนั้นมีผลต่อสุขภาพมาก จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณา โดยการแก้ไขระเบียบกรมสรรพสามิต เพื่อปรับปรุงวิธีการคิดภาษีตามปริมาณน้ำตาล"
"ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า น้ำอัดลมในประเทศไทยนั้นมีปริมาณแคลอรี น้ำตาล โซเดียมในระดับสูง แต่กลับมีราคาต่ำเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ พบว่ามีราคาสูงกว่ามาก ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลต่ำ และไม่มีการเติมโซเดียม ซึ่งมาตรการทางราคาจะมีผลให้ผู้ประกอบการปรับตัว และผลดีที่ได้คือประชาชนจะมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยลง ซึ่งจะมีการนำข้อเสนอพร้อมหลักฐานทางวิชาการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาต่อไป" ทพ.วีระศักดิ์กล่าว
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านอาหารและโภชนาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันนี้ภาพลักษณ์ของเด็กไทย ประกอบด้วย ผอม เตี้ย อ้วน และโง่ ซึ่งจากงานวิจัยของ SEANUTS หรือโครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน บ่งชี้ว่า ภาวะน้ำหนักเกินมีความชัดเจนในกลุ่มเด็กเมือง อายุ 6-12 ปี
ขณะที่เด็กชนบทมีภาวะเติบโตหยุดชะงัก ทำให้เป็นเด็กแคระแกร็นสูงกว่าเด็กเมืองถึง 2 เท่า โดยเด็กทารกแรกเกิด 0.5-2.9 ปี ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต สาเหตุมาจากคุณภาพอาหารที่ทารกได้รับต่ำมาก ส่วนเด็กวัยเรียนและเด็กอนุบาลยังเจอปัญหากินอาหารคุณภาพต่ำ
นักโภชนาการชื่อดังกล่าวต่อว่า สาเหตุเชิงพฤติกรรมที่ทำให้เด็กไทยมีสภาพเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะกินผักผลไม้น้อยลง โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2552 พบว่าเด็กไทยกินผลไม้น้อยลง 18% และตัวเลขล่าสุดที่ออกมาพบว่า เด็กไทยกินผักน้อยลง วันหนึ่งไม่ถึงช้อนครึ่ง ทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุ เป็นสาเหตุของอาการเซื่องซึม แคระแกร็น
ที่น่าตกใจมากที่ผลวิจัยยังระบุว่า เด็กในโรงเรียนชนบท สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กินผักน้อยกว่าเด็กในเขตเมือง และเด็กที่เรียนในโรงเรียนสาธิต สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะผลไม้และผักมีราคาสูงขึ้น ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องโภชนาการ นิยมปลูกผักไว้ขาย ไม่ได้ไว้กิน
นายสง่ากล่าวว่า จากการสำรวจยังพบว่าเด็กไทย 46% กินขนมกรุบกรอบซึ่งมีไขมันและโซเดียมสูง 49% ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน 92% กินอาหารประเภททอด 90% กินอาหารรสเค็มที่ปรุงจากผงชูรส ผงฟูในขนมปัง ทำให้หัวใจทำงานหนัก เด็กเป็นความดันเพิ่มขึ้น กินน้ำตาลเกินความพอดี และสุดท้าย เด็ก 40-60% มีพฤติกรรมแน่นิ่ง นั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ เล่นเกมกด ดูทีวี ติดอินเทอร์เน็ต เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้อ้วน
ถ้ายังปล่อยให้เด็กที่ขณะนี้กำลังเรียนอยู่ระดับอนุบาลและประถมศึกษายังอ้วนและไม่ควบคุม เด็กจะเสี่ยงเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนในอนาคต 30% เมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยแล้วยังลดไม่ได้ จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน 80% ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมาก เป็นหายนะของชาติ
"แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ ส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ด้านสุขภาวะมากขึ้น ขณะเดียวกันอนาคตอาจจะต้องมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาควบคุม โดยขณะนี้ สสส.กำลังศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ในการนำมาตรการทางภาษีมาควบคุมผู้ผลิตอาหารต่างๆ ไม่ให้ใส่น้ำตาลลงไปในอาหารเกินความจำเป็น และหากผู้ผลิตรายใดใส่เกินกว่าที่กำหนดจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น โดยจะเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป"
"ขณะเดียวกันจะต้องรณรงค์ให้พ่อแม่เข้าใจเลือกอาหารให้กับเด็ก รวมถึงส่งเสริมให้เด็กดื่มนมจืด เพราะมีประโยชน์มากที่สุด ลดการดื่มน้ำอัดลม กินอาหารให้ถูกหลัก ปลูกฝังการกินผัก ผลไม้ ไม่กินหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดเด็กอ้วนได้" นายสง่ากล่าว
ความพยายามเรื่องขึ้นภาษีอาหารหวานและขยะเป็นมาตรการหนึ่งที่ลดปัญหาสุขภาพของคนไทยได้ แต่ท้ายสุดความอ้วนจะหายไปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราที่จะสามารถควบคุมจิตใจตัวเองและคนในครอบครัว ให้อย่าเผลอตามใจปาก เลือกรับประทานอาหารสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่อารมณ์ดีตามหลัก 3 อ. มั่นใจได้เลยว่าปลอดความเสี่ยงเรื่องอ้วน ไร้โรคแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต