หนุนกินผักให้เพียงพอ ลดเสี่ยงโรค
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
สสส. เผยคนไทยเสี่ยงโรค NCDsเหตุกินผัก-ผลไม้น้อย เดินหน้ากระตุ้นเปลี่ยนพฤติกรรมให้บริโภคไม่ต่ำกว่า 400 กรัมตามเกณฑ์ WHO เสนอเพิ่มทางเลือกเข้าถึงตลาดสด-ร้านชำ-ที่ทำงาน พร้อมชวนคนสำคัญในครอบครัวกินผักผลไม้ปลอดภัยใกล้บ้าน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี แต่คนไทยส่วนหนึ่งยังรับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผลสำรวจพฤติกรรมการรับประทานผักและผลไม้ของคนไทย ปี 2562 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากกลุ่มตัวอย่าง 7,957 คน ใน 3,670 ครัวเรือน พบว่าคนไทย (อายุ 15 ปีขึ้นไป) รับประทานผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 400 กรัมต่อวัน ถึงร้อยละ 65.5 ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่เพียงลำพังมีโอกาสรับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ขณะที่เด็กวัยเรียน (6-9 ปี) เป็นกลุ่มที่รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอสูงสุดถึงร้อยละ 77
“สำหรับวิธีการได้มาของผักและผลไม้ที่รับประทานที่บ้าน ผลสำรวจพบว่า คนที่รับประทานผักและผลไม้เพียงพอ ส่วนใหญ่ซื้อด้วยตนเอง และเกิน 1 ใน 4 ปลูกผักและผลไม้รับประทานเอง ส่วนคนที่รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แม่และภรรยาเป็นผู้หาผักและผลไม้ให้เป็นหลัก ดังนั้น บทบาทของคนในครอบครัวจึงมีความสำคัญที่จะทำให้คนที่เรารักได้รับประทานผักและผลไม้เพียงพอในแต่ละวัน ส่วนแหล่งที่ซื้อผักบ่อยที่สุด คือ ตลาดสด รองลงมาร้านขายของชำ และร้านรถเข็น หาบเร่ ส่วนแหล่งที่คนไทยไปรับประทานนอกบ้านบ่อยที่สุด คือห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และที่ทำงาน ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้คนไทยรับประทานผักและผลไม้เพียงพอเพิ่มขึ้น ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับสัดส่วนการรับประทานผักผลไม้ที่ถูกต้อง และการล้างผักผลไม้ให้สะอาด การส่งเสริมการปลูกผักและผลไม้รับประทานเอง และการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงผักผลไม้จากแหล่งจำหน่ายต่างๆ เป็นต้น” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการรับประทานผักและผลไม้ของคนไทย ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการรับประทานผักและผลไม้ โดยกลุ่มที่รับประทานผักผลไม้เพียงพอ เน้นสนับสนุนนโยบายส่งเสริมให้คนไทยปลูกผักสวนครัวรับประทานเอง ขณะที่กลุ่มที่รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอสนับสนุนนโยบายด้านทำผักและผลไม้ให้ปลอดภัย และปลอดสารพิษ ส่วนมาตรการระดับบุคคลควรรณรงค์ให้ความรู้ กระตุ้นให้ตระหนักเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรื่องการรับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอต่อวัน รวมถึงการทำความสะอาดผักผลไม้ ส่งเสริมทักษะการปลูกผักและผลไม้เองที่บ้าน สำหรับมาตรการระดับสิ่งแวดล้อม ต้องเพิ่มการเข้าถึงผักผลไม้ทุกชนิด เพื่อเพิ่มการซื้อและการรับประทานผักผลไม้ ทั้งที่ตลาดสด ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ สถานที่ทำงานในแหล่งที่ขายอาหารหรือให้บริการอาหาร