หนุนการออม พัฒนาชีวิตผู้สูงวัยไทย

เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว การสร้างหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุ สำหรับการดำรงชีวิตในยามชราภาพให้ดีเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญ แต่ปัจจุบันกลับยังไม่มีแนวทางสนับสนุนที่ชัดเจน


หนุนการออม พัฒนาชีวิตผู้สูงวัยไทย thaihealth


ดังนั้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนและออกแบบให้เกิดระบบบำนาญแห่งชาติ จัดเวทีเสวนานโยบายสาธารณะ "ระบบบำนาญ" เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เมื่อสูงวัย


"ระบบบำนาญที่ดีต้องไม่ใช่การรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนเองจะต้องลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับการออมภาคสมัครใจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ" นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย กล่าว


นายเจิมศักดิ์อธิบายว่า การเร่งหาระบบรองรับสังคมสูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยระบบบำนาญต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ที่ยั่งยืนให้กับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มความช่วยเหลือจากภาครัฐจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศได้ แต่ควรเป็นเรื่องความจำเป็นที่ประชาชนเองจะต้องให้ความสำคัญกับการออมภาคสมัครใจ เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณนอกเหนือไปจากสวัสดิการที่ได้รับจากภาครัฐ


ด้าน รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะว่า ระบบบำนาญของไทยอาจประสบปัญหาด้านความยั่งยืน เพราะเป็นระบบบำนาญแบบพึ่งพาภาษีอากร เกิดภาระทางการเงินการคลังให้กับประเทศและเป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง ดังนั้นสมควรมีการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ โดยต้องยกระดับเบี้ยยังชีพมาเป็นพระราชบัญญัติบำนาญพื้นฐาน เพื่อช่วยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้จากรัฐได้อย่างเท่าเทียม ควรแก้ไขให้สมาชิกกองทุนประกันสังคมสามารถย้ายเงินมาอยู่ในกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เพื่อออมเงินต่อโดยมีบัญชีส่วนตัว โดยยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างและรัฐบาลตามเดิม และให้ลูกจ้างที่เริ่มทำงานใหม่ออมกับ กอช.ตั้งแต่ต้น


หนุนการออม พัฒนาชีวิตผู้สูงวัยไทย thaihealth


รศ.ดร.วรเวศม์กล่าวอีกว่า ต้องเปลี่ยนระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นระบบบังคับ และส่งเสริมให้มีแผนทางเลือกการลงทุนและส่งเสริมการแข่งขันระหว่างกองทุน รวมถึงควรแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง สามารถปลูกและตัดไม้ที่มีค่าที่ปลูกในพื้นที่ของตนเองเพื่อเป็นบำนาญชีวิตได้ และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติเพื่อรับผิดชอบด้านกิจการนโยบายบำนาญของประเทศ


สอดคล้องกับนายยศ วัชระคุปต์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงผลการวิจัย "การบูรณาการระบบบำนาญแห่งชาติ" ว่า ในต่างประเทศมีการตั้งระบบบำนาญมานานและแก้ไขมาจนประสบความสำเร็จ เช่น ระบบบำนาญของกลุ่มประเทศยุโรป หรือ EU พบว่า มีระบบการกำหนดนโยบายจากคณะกรรมการส่วนกลางและมีความต่อเนื่องของการเป็นสมาชิก หรือระบบบำนาญของประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีระบบการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางครอบ คลุมคนทั้งประเทศ


นักวิจัยอาวุโสจากทีดีอาร์ไอยังสนับสนุนแนวทางกฎหมายในการบูรณาการเชิงนโยบายของระบบบำเหน็จบำนาญของไทย โดยให้มี "คณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ" เพื่อกำหนดภาพรวมระบบบำนาญเพื่อให้เป็นระบบหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุที่มองในภาพรวม ลดความซ้ำซ้อน เป็นธรรมและยั่งยืน


การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองให้ได้นานที่สุด เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันและทุกคนสามารถเริ่มต้นสร้างหลักประกันยามชราภาพได้ด้วยตัวเองด้วยการเก็บออมตั้งแต่วันนี้.


"ควรมีการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ ต้องยกระดับเบี้ยยังชีพมาเป็นพระราชบัญญัติบำนาญพื้นฐาน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้จากรัฐอย่างเท่าเทียม…"


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ขอบคุณภาพจากแฟนเพจ "สูงวัย"

Shares:
QR Code :
QR Code