หนึ่งมหาวิทยาลัย หนึ่งจังหวัดร่วมสร้างโมเดล’เมืองแปดริ้วน่าอยู่’

เสริมสร้างสุขภาวะที่ดี

หนึ่งมหาวิทยาลัย  หนึ่งจังหวัดร่วมสร้างโมเดล’เมืองแปดริ้วน่าอยู่’

 

         ณ วันนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยน จะไม่เป็นเพียงสถาบันที่จะให้แค่การศึกษาเท่านั้น มหาวิทยาลัยจะเข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ของตนเองเป็น”เมืองน่าอยู่” ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

 

          ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ร่วมกับชมรมองค์การบริหารส่วนตำบลจ.ฉะเชิงเทรา และเครือข่ายองค์กรชุมนุมชุมชนใน จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกันเปิดเวทีเสวนา “หนึ่งมหาวิทยาลัย หนึ่งจังหวัด เพื่อแปดริ้วเมืองน่าอยู่” ณ อาคารเรียนรวมและอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ จ.ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่มีสุขภาวะดี อันเกิดจากประชาชนแกนนำองค์กรชุมชน โดยมีตำบลบ้านซ่องเป็นตำบลนำร่อง

 

          นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่าพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองน่าอยู่ในทุกด้าน ทั้งกายภาพสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ความพร้อมและความร่วมมือของทั้งภาคการเมืองท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่  ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่กว่า70% อยู่ในภาคเกษตรกรรม มีวัฒนธรรมประเพณีของตัวเอง มีหลวงพ่อโสธรเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ มีความสมบูรณ์ และความน่าอยู่ สำหรับทิศทางในการพัฒนาในครั้งนี้คือ “เกษตรไม่เอาเปรียบผู้บริโภค” หมายความว่าส่งเสริมการทำการเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และ”อุตสาหกรรมไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม

 

          ผศ.เอนก เทพสุภรณ์กุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์กล่าวว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อชุมชนได้ขบเคลื่อนร่วมกับภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการ และส่วนที่เกี่ยวข้อง หารือกันในหลายเรื่อง ซึ่งการที่จะเป็นเมืองน่าอยู่ได้นั้น ต้องเริ่มที่ครอบครัวอบอุ่น สิ่งแวดล้อมดี ในขณะที่ส่วนของมหาวิทยาลัยต้องฝึกกำลังคนให้พร้อมที่จะช่วยภาคธุรกิจหรือสถานประกอบการให้พร้อมที่สุด ซึ่งโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัดนี้ จะเป็นตัวอย่างทำให้ประเทศน่าอยู่ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ประกอบกับการจัดบริการทางวิชาการจากมหาวิทยาลัย โดยให้ประชาชนฝึกอบรมในเรื่องต่างๆ การผลิตและพัฒนาครู สร้างครูรุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง ทั้งความรู้และคุณภาพ ซึ่งต่อไปในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นศูนย์ประสานงานเพื่อให้จังหวัด

 

          น่าอยู่ยิ่งขึ้น พร้อมกับจัดทำข้อมูลความรู้ในด้านต่างๆ ของจังหวัดในมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะถือเป็นศูนย์รวมความรู้ของทุกระดับการศึกษาและในทุกด้าน

 

          ผศ.ดร.กุลวดี โรจน์ไพศาลกิจ รองอธิการบดีวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า บทบาที่สำคัญของมหาวิทยาลัยคือ การให้ข้อมูลทางด้านวิชาการซึ่งมหาวิทยาลัยจะเป็นเพียงข้อต่อตัวหนึ่งที่หนุนเสริมให้เกิดกลไกใหม่ๆขึ้นมาอีกทั้งมหาวิทยาลัยฯมีความคิดที่จะให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้และเผยแพร่ให้กับชุมชนต่อไป โดยในปี 2554  ทางมหาวิทยาลัยฯจะมีการออกนโยบายบูรณาการงานวิจัยของนักศึกษาให้เชื่อมโยงกับพื้นที่ ส่วนในภาคการทำงานกับท้องถิ่นมหาวิทยาลัยฯจะทำหน้าที่ในการประสานงานกับพื้นที่และชุมชน

 

          นส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่และชุมชน (สน.3) กล่าวว่า ภายใน 3 ปี เราจะพัฒนาตำบลน่าอยู่ให้เต็มพื้นที่ ซึ่งสำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา ผลที่ผ่านมาเมื่อมีมหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุน ทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งขึ้นมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้ไปดูว่าในฉะเชิงเทรามีแหล่งเรียนรู้ที่ใดบ้าง ก็ปรากฏว่าพบมากแต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น สสส.จึงขอมหาวิทยาลัยรวบรวมแหล่งเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นที่มาของ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด และมหาวิทยาลัยได้ตอบตกลงเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อน โดยเริ่มจากอาศัยคนที่มีอิทธิพลต่อท้องถิ่นเข้ามาร่วมทำงาน โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นตัวเชื่อมในการกระจายนักศึกษาร่วมทำงานและเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ฝึกให้ชุมชนมีความคิดมีการปรึกษาหารือกันมากขึ้น พัฒนาจิตใจและปัญญา ตลอดจนให้คนที่เข้มแข็งกว่าช่วยคนอ่อนแอ โดยมี สสส.คอยให้การสนับสนุน ซึ่งในส่วนของฉะเชิงเทราเอง ก็มีศักยภาพในหลายด้าน มีงานปูพื้นอยู่แล้ว และชุมชน รวมถึงท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง

 

          สำหรับการทำงานของ สสส. ได้ตั้งเป้าที่จะทำเช่นเดียวกันนี้ปีละ 3 จังหวัด โดยอาศัยโมเดลจากจังหวัดที่ประสบความสำเร็จแล้วคือ อุตรดิตถ์นครศรีธรรมราช และฉะเชิงเทรา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีโครงสร้างที่ต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น โดยเป้าหมายที่ สสส.จะเข้าไปพัฒนาต่อยอดคือจ.อุทัยธานี และพะเยา ซึ่งปัจจัยของความสำเร็จจะขึ้นกับการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างชุมชนกับท้องถิ่น จากนั้นจะมีการต่อยอดโดยการดึงองค์กรภายนอกเข้ามาช่วย

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

 

 

 

update: 29-06-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

Shares:
QR Code :
QR Code